Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View จีนยืดหยุ่นค่าเงินหยวน…ผลกระทบต่อการส่งออกไทย BY EXIM BANK
จีนยืดหยุ่นค่าเงินหยวน…ผลกระทบต่อการส่งออกไทย BY EXIM BANK PDF Print E-mail
Monday, 28 June 2010 12:30

โดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)


ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China : PRC) ดำเนินนโยบายตรึงค่าเงินหยวนไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 6.8262 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงมากเมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งขาดดุลการค้ากับจีนเป็นจำนวนมหาศาล ออกมากดดันอย่างหนักให้ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด จนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนประกาศจะปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนและปล่อยให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวได้ในช่วง +/-0.5% จากค่ากลางที่ PRC ประกาศในแต่ละวัน ส่งผลให้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เงินหยวนแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปีในตลาดซื้อขายเงินหยวนระหว่างประเทศที่ระดับ 6.7976 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 0.4% จากระดับปิดตลาดที่ 6.8262 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553

เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป นักวิเคราะห์ของ Bloomberg คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นราว 2% ภายในปี 2553 ขณะที่การซื้อขายเงินหยวนที่ไม่มีการส่งมอบ (Non-Delivery Forward : NDF) บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ว่า ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น 5% มาอยู่ที่ระดับ 6.5 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับที่ธนาคารกลางจีนได้ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะไม่ปรับค่าเงินหยวนแบบเฉียบพลัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งภาคการส่งออกของจีน

ทั้งนี้ เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและนโยบายผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้น อาจส่งผลให้ค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในระยะสั้นซึ่งจะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนและเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชีย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตพบว่า ธนาคารกลางจีนเคยปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นครั้งใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2548 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 เป็นระยะเวลารวม 3 ปี ในครั้งนั้นเงินหยวนแข็งค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปจาก 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นราว 21% (คิดเป็นอัตราการแข็งค่าเฉลี่ย 7% ต่อปี) ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกันแข็งค่าขึ้นราว 26% ใกล้เคียงกับการแข็งค่าของเงินหยวน โดยการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment : FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) รวมกันสูงถึง 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปี

ทิศทางค่าเงินบาทและเงินหยวนในระยะที่ผ่านมา

การที่เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นราว 2-5% ภายในปี 2553 ประกอบกับข้อมูลในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนในอัตราใกล้เคียงกัน ทำให้คาดได้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2553 หรือเป็นการแข็งค่าขึ้นราว 4% จากปัจจุบันที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ราว 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อและความสามารถในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินหยวน ประกอบกับการที่จีนยังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องด้วยการอัดฉีดเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตและลงทุนเป็นจำนวนมาก เหตุผลดังกล่าวทำให้การส่งออกของไทยซึ่งปัจจุบันพึ่งพาตลาดจีนมากถึง 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับต้นๆ

ดังนั้น การที่เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางลบและทางบวก ดังนี้

ผลกระทบทางลบ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตามทิศทางเงินหยวน อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ Import Content ของสินค้าแต่ละประเภท โดยสินค้าที่มี Import Content สูง จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มากนัก เพราะแม้รายรับจากการส่งออกที่อยู่ในรูปเงินบาทจะลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท แต่ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าก็มีแนวโน้มถูกลงเช่นกัน (Natural Hedge) ตรงข้ามกับสินค้าที่มี Import Content ต่ำ จะได้รับผลกระทบมากกว่าจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ผลกระทบทางบวก เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ Domestic Demand ของจีนเพิ่มขึ้น ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หากพิจารณาผลกระทบเป็นรายสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกแต่ละประเภทของไทยจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายยืดหยุ่นค่าเงินหยวนของจีนแตกต่างกันไป ดังนี้

ผลกระทบของการปรับค่าเงินหยวนที่มีต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทย

สินค้าที่ได้ประโยชน์ เป็นสินค้าที่มี Import Content สูง ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการที่เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูง อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

สินค้าที่เสียประโยชน์ เป็นสินค้าที่มี Import Content ต่ำ ทำให้ได้รับผลกระทบมากจากการที่เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันสินค้าดังกล่าวกลับไม่ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้นเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนน้อย หรือไม่ได้ส่งออกไปจีนเลย อาทิ ข้าว ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น    

สินค้าที่ไม่ได้/ไม่เสียประโยชน์ จำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ
สินค้าที่มี Import Content สูง และส่งออกไปจีนไม่มากนัก เป็นสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมี Import Content สูง แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนไม่มากนัก อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น

สินค้าที่มี Import Content ต่ำ และส่งออกไปจีนมาก เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมี Import Content ต่ำ อย่างไรก็ตาม กลับได้รับอานิสงส์จากการที่จีนมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมาก อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นการมองจีนในฐานะคู่ค้าของไทย แต่หากพิจารณาจีนในฐานะ “คู่แข่ง” แล้ว การที่เงินหยวนแข็งค่าก็ได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทในทิศทางแข็งค่าเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในแง่ของการแข่งขันแล้ว อาจต้องพิจารณาว่า ในระยะถัดไปเงินสกุลใดจะแข็งค่ามากกว่ากันเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่มีจีนเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลกได้แก่ เครื่องดื่ม ไก่แปรรูป ผักและผลไม้ กุ้ง สิ่งทอ เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก เป็นต้น

Written by :
พิราบขาว
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday1544
mod_vvisit_counterAll days1544

We have: 1540 guests online
Your IP: 18.223.213.76
Mozilla 5.0, 
Today: Nov 24, 2024

4149016