Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Monday, 20 February 2017 10:06

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้มีมติคว่ำกฎข้อบังคับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งผลักดันโดยรัฐบาลในสมัยปธน.บารัค โอบามา ที่แต่เดิมกฎข้อบังคับนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลให้มลรัฐต่างๆ ไม่สามารถบังคับให้ธุรกิจขนาดเล็กลงทะเบียนพนักงานของตนเพื่อออมเงินใช้ในวัยเกษียณได้ โดยแผนดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้วใน 8 มลรัฐด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้กระทรวงแรงงานทบทวนกฎข้อบังคับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้บรรดาที่ปรึกษาด้านการวางแผนเพื่อวัยเกษียณนั้นถือเอาผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้ผู้เกษียณอายุถูกชักชวนให้ทำแผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงโดยไม่จำเป็น เพียงหวังทำรายได้ให้แก่ที่ปรึกษาเอง ทั้งนี้ กฎข้อบังคับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณถูกคัดค้านโดยสถาบันการเงินหลายแห่ง อันเนื่องจากความกังวลว่าระเบียบดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น

Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ประจำเดือนม.ค.ปรับตัวขึ้น 0.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5% ทั้งนี้ ดัชนี LEI คำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 ประเภท ซึ่งรวมถึง คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, ราคาหุ้น และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน 0.3%

 

ยุโรป: สหภาพยุโรป

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รายงานว่า ปริมาณเงินลงทุนที่ไหลเข้ายูโรโซนพุ่งขึ้นมากในเดือนธันวาคม ขณะที่ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของยูโรโซนลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงและการลงทุนผ่านพอร์ทรวมกันเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.219 แสนล้านยูโร (1.2977 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. หลังจากที่มีเงินทุนไหลออก 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย. ขณะที่การลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และปริมาณการลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีเงินทุนไหลออกในเดือนพ.ย. ขณะเดียวกัน ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงสู่ 3.1 หมื่นล้านยูโร จาก 3.64 หมื่นล้านยูโรในเดือนพ.ย. โดยทรงตัวใกล้ระดับเดียวกันตั้งแต่เดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนล่าสุด ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.4% ของจีดีพี จาก 3.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) รายงานว่า การผลิตในภาคการก่อสร้างของยูโรโซนในเดือนธันวาคมลดลง 0.2% (mom) โดยได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารที่ลดลง 0.5% ส่วนการผลิตในภาคการก่อสร้างของสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 0.6% โดยได้แรงหนุนจากการก่อสร้างอาคารที่เพิ่มขึ้น 0.2% ทั้งนี้ ภาคการก่อสร้างร่วงลงมากที่สุดในโรมาเนีย, สโลวาเกีย และบัลกาเรีย ขณะที่ขยายตัวมากที่สุดในสวีเดน, โปแลนด์, สาธารณรัฐเชค และอังกฤษ

 

เยอรมนี

ผลโพลล์ของสถานีโทรทัศน์ ZDF  ระบุว่า นายมาร์ติน ชูลซ์ ผู้สมัครจากพรรคโซเชียล เดโมแครตของเยอรมนีสำหรับการเลือกตั้งส่วนกลางในเดือนก.ย.ปีนี้ จะได้คะแนนโหวต 49% ถ้าหากมีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีได้โดยตรง ส่วนนายกรัฐมนตรีแองเจลา เมอร์เคลจะได้คะแนนโหวตเพียง 38% ทั้งนี้ ผลโพลล์ของสถานีโทรทัศน์ ZDF ของเยอรมนีที่ออกมาในช่วงสิ้นเดือนม.ค.นั้น นางเมอร์เคลเคยได้คะแนนนิยมสูงกว่านายชูลซ์ในช่วงนั้น โดยในตอนนั้นนางเมอร์เคลได้คะแนนนิยม 44% ส่วนนายชูลซ์ได้คะแนนนิยม 40%

 

ประเด็นที่น่าสนใจ

รัฐมนตรีคลังกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ ยูโรกรุ๊ป จะจัดการประชุมในวันนี้ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยที่ประชุมจะหารือกันในประเด็นกว้างๆ ซึ่งรวมถึงการทบทวนการปรับนโยบายเศรษฐกิจรอบที่สองของกรีซ และอาจจะมีการรือกันเกี่ยวกับการอนุมัติความช่วยเหลือด้านการเงินครั้งต่อไปให้กับกรีซ มูลค่า 8.6 หมื่นล้านยูโร หรือ 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การประชุมครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่กรีซจะครบกำหนดชำระหนี้มูลค่า 7.2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค. และก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งของเยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งก็เป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป  ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ทำการทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของกรีซรอบแรก ก่อนที่จะส่งร่างนโยบายดังกล่าวให้กับยูโรกรุ๊ป เพื่อทำการทบทวนรอบที่สองในวันนี้

 

เอเซีย: จีน

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ขายเงินตราต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าสุทธิ 3.042 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนม.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทั้งนี้จากการคำนวณของรอยเตอร์โดยอิงตามข้อมูลของ PBOC ที่ออกมาในวันศุกร์ที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณการขายเงินตราต่างประเทศสุทธิของ PBOC มีมูลค่ารวม 2.088 แสนล้านหยวน (3.042 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เทียบกับการขายสุทธิ 3.178 แสนล้านหยวนในเดือนธ.ค. และ 6.4454 แสนล้านหยวนในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว ความพยายามเพื่อพยุงค่าเงินหยวนทำให้ปริมาณทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนลดลงต่ำกว่าระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ปี

 

ญี่ปุ่น

รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นปรับขึ้นในเดือนก.พ.เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และได้ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดรอบ 2 ปีครึ่งที่ +20  อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการของญี่ปุ่นลดลงสู่ +26 ในเดือนก.พ. และถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ผลสำรวจรอยเตอร์ ทังกันรายเดือนนี้มักจะปรับตัวสอดคล้องกับผลสำรวจทังกันรายไตรมาสของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยผลสำรวจรอยเตอร์ ทังกันนี้ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นอาจขยับลงสู่ +19 ในเดือนพ.ค. หรือในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทภาคบริการอาจทรงตัวที่ +26 ในเดือนพ.ค.รอยเตอร์จัดทำโพลล์นี้จากการสอบถามบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ 531 แห่งของญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-14 ก.พ. โดยมีบริษัท 255 แห่งที่ตอบแบบสอบถามนี้

 

สิงคโปร์

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวในอัตราสูงกว่าที่คาดไว้เบื้องต้นในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่สิงคโปร์กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆท่ามกลางความวิตกมากขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัว 12.3% ในไตรมาส 4 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ 9.1% ซึ่งรัฐบาลคาดไว้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. และเทียบกับค่ากลางในผลสำรวจของรอยเตอร์ที่ 12.6% ซึ่งทำให้มีความหวังว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวปานกลาง หลังจากที่ชะลอตัวมานานกว่า 2 ปี  แต่นักวิเคราะห์ และรัฐบาลยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เนื่องจากอุปสรรคภายนอกจากสัญญาณนโยบายกีดกันทางการค้าที่น่าวิตกของสหรัฐ และความท้าทายในประเทศจากภาคบริการที่ชะลอตัวลง และผลกำไรของภาคธนาคารที่ชะลอตัว

 

ไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์จะเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 4 พ.ศ.

2559 ในวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.เวลา 09.30 น. รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 อาจขยายตัวในอัตราเดียวกับไตรมาส 3 ทั้งนี้ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์โดยรอยเตอร์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อาจขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 4 เท่ากับในไตรมาส 3 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 0.6% เช่นกัน และอาจขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2559 ขยายตัว 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 2558 ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีจากนักวิเคราะห์ 14 คนใน 18 คนอยู่ในช่วง 0.2-1.1% นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.3% ในปีนี้

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันศุกร์ (17 กพ.) เงินบาททรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ขณะที่วันนี้ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินเอเซียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ในต่างประเทศชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐไม่สามารถหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐให้พุ่งสูงขึ้นได้ในช่วงนี้เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐฯซึ่งปัจจัยดังกล่าวกดดันดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยนักลงทุนยังคงพยายามประเมินผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมีการมองว่านโยบายการค้าของเขาอาจจะไม่ได้ส่งผลบวกต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

- ดอลลาร์/เยน วันศุกร์ (17 กพ.) เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวดีกว่าญี่ปุ่นจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและญี่ปุ่นกว้างขึ้นและสนับสนุนให้ดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบกับเยน แต่ว่าช่วงนี้นักลงทุนยังกังวลมากต่อนโนบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสามารถส่งผลได้ทั้งทางบวกและลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

- ยูโร/ดอลลาร์ วันศุกร์ ( 17 กพ.) เงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยประจำวันที่ 19 ม.ค.เมื่อวานนี้ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีสนับสนุนให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม ขณะที่ความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ รายงานการประชุมระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายหลายคนมองว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว และการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับความเสี่ยง และด้วยเหตุนี้ผู้กำหนดนโยบายหลายคนจึงมีความเห็นตรงกันว่า อีซีบีควรจะดำเนินนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรในปริมาณมากต่อไป ผู้กำหนดนโยบายเปิดโอกาสสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต และเปิดโอกาสสำหรับการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของพันธบัตรที่ซื้อจากแต่ละประเทศ ถ้าหากสถานการณ์ในตลาดเปลี่ยนแปลงไป

 

Capital Market

- ตลาดสหรัฐฯ วันศุกร์ ( 17 กพ.) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปิดทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ติดต่อกันในวันศุกร์ ขณะที่ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน หลังการพุ่งขึ้นของหุ้น Kraft Heinz ได้ช่วยชดเชยแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงาน  ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 0.02% สู่ระดับ 20,624.05, ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น  0.17% สู่ระดับ 2,351.16 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น  0.41% สู่ระดับ 5,838.58

- ตลาดหุ้นเอเชีย วันศุกร์ ( 17 กพ.) ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ลดลงในวันนี้ โดยดัชนีนิกเกอิปิดตลาดลดลง 0.58% สู่ระดับ 19,234.62 ขณะที่นักลงทุนวิตกกับเงินเยนที่แข็งค่า ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดตลาดลดลง 0.86% มาที่ 3,201.96 ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งปิดลดลง 0.31% สู่ระดับ 24,033.74 ปริมาณเงินทุนไหลเข้าจากจีนสู่ฮ่องกงผ่านโครงการเชื่อมโยงระบบซื้อขายหุ้นระหว่างตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกงลดลงอย่างมากในวันนี้ โดยนักลงทุนจีนได้ใช้โควต้าการลงทุน 2.2% เทียบกับระดับเฉลี่ย 24% ในรอบ 5 วันที่ผ่านมา นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความสนใจของนักลงทุนจีนในหุ้นฮ่องกงเพิ่มขึ้นเนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นจีน และจีนได้ดำเนินการเด็ดขาดกับการซื้อขายแบบเก็งกำไรเพื่อควบคุมภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ในตลาดหุ้นจีน

- ตลาดหุ้นไทย วันศุกร์ ( 17 กพ.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดตลาดก่อนที่จะลดลงหลังจากนั้นและเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ โดยวันนี้มีแรงซื้อมากในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่มีแรงขายมากในหุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้น 1.79 จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 20 ก.พ. 2560

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday25348
mod_vvisit_counterYesterday36228
mod_vvisit_counterAll days167318122

We have: 302 guests online
Your IP: 3.14.132.214
Mozilla 5.0, 
Today: Apr 19, 2024

11291112