Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Monday, 03 April 2017 10:15

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองการคาดการณ์ GDP Now แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัว 0.9% ในไตรมาส 1 หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่าย และรายได้ของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ การขยายตัวที่ระดับ 0.9% อยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ 1.0% เมื่อวันที่ 24 มี.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีทีแล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมกราคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่หากมีการปรับค่าตามเงินเฟ้อ การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง 0.1% หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนมกราคม ส่วนรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม นอกจากนี้ ตัวเลขการออมของผู้บริโภคพุ่งขึ้นสู่ระดับ 8.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 7.709 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 96.9 โดยต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ 97.6 แต่สูงกว่าระดับ 96.3 ของเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการจ้างงาน และสถานะทางการเงิน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล

ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยมาร์เคว็ต และสถาบันจัดการด้านอุปทานมิลวอกี ระบุว่า ภาคการผลิตของภูมิภาคมิดเวสต์มีการขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิลวอกีเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 61.77 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2014  และเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากระดับ 58.69 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิต ทั้งนี้ ดัชนีย่อยเกี่ยวกับคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ดัชนีแนวโน้มสำหรับช่วงเวลา 6 เดือนข้างหน้าลดลงสู่ระดับ 68.18 จากระดับ 72.50 ในเดือนกุมภาพันธ์

นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มสดใสขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีแนวโน้มสูงยิ่งขึ้นที่รัฐบาลสหรัฐจะดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ดังนั้นเฟดจึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และเฟดจะปรับลดขนาดการถือครองตราสารหนี้ลงในอนาคต เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป ถึงแม้นายดัดลีย์แสดงความกังวลบางประการในครั้งนี้ ถ้อยแถลงของเขาก็ถือเป็นการแสดงความเห็นในทางบวกมากที่สุดในรอบหลายปี และถ้อยแถลงของเขาช่วยตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มสำคัญในเฟดมีความเชื่อมั่นในการคุมเข้มนโยบายการเงิน หลังจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วสองครั้งในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา นายดัดลีย์กล่าวว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในระยะนี้ทำให้เขามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่เสถียรภาพที่ระดับราว 2% หลังจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน นายดัดลีย์กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเพราะปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่ลดลงมากจากเศรษฐกิจต่างประเทศ, การจ้างงานที่เติบโตเป็นอย่างดีในสหรัฐ, และการที่คณะผู้บริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะดำเนินมาตรการปรับลดภาษี, นโยบายลงทุน และนโยบายปรับลดกฎระเบียบ นายดัดลีย์กล่าวว่าถึงแม้ยังคงมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากในเรื่องนโยบายการคลัง ก็มีแนวโน้มว่านโยบายการคลังจะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นในอนาคต และด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนว่า อัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะค่อยๆปรับสูงขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว นายดัดลีย์กล่าวเสริมว่าสิ่งที่เหมาะสมคือการปรับลดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะร้อนแรงจนเกินไป และเพื่อสกัดกั้นไม่ให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเกินเป้าหมายเป็นอย่างมากในระยะกลาง นายดัดลีย์เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงถาวรในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) โดยเฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.75-1.00% ในวันที่ 15 มี.ค. โดยเฟดคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

 

ยุโรป: ยูโรโซน

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 1.5% เมื่อเทียบรายปี ในเดือนมีนาคม ซึ่งปรับตัวลงจากระดับ 2% ในเดือนกุมภาพันธ์ นับเป็นอีกครั้งที่อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนปรับตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายของ ECB ที่อยู่ใกล้ระดับ 2% อีกครั้งหนึ่ง ยูโรสแตท ระบุว่า แรงกดดันด้านราคาได้อ่อนตัวลงแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มมีผลต่อการเปรียบเทียบเงินเฟ้อรายปีน้อยลง

 

เยอรมนี

สำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในเดือนก.พ. แต่ลดลงอย่างไม่คาดคิดเมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไร้ทิศทางสำหรับภาคค้าปลีกของเยอรมนี ทั้งนี้ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากที่ลดลง 1.0% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกลดลง 2.1% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.3%

นายซิกมาร์ แกเบรียล รมว.ต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่า สหภาพยุโรปควรพิจารณาการยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อคัดค้านสหรัฐกรณีการวางแผนเก็บภาษีเหล็กแผ่นนำเข้าจาก 5 ประเทศในอียู  เขากล่าวอีกว่า ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐเตรียมที่จะมอบความได้เปรียบในการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมแก่บริษัทสหรัฐเหนือผู้ผลิตของยุโรป แม้การกระทำดังกล่าวละเมิดกฎหมายการค้าระหว่างประเทศก็ตาม  นายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาว่า กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ตัดสินขั้นสุดท้ายว่า ผู้ผลิตต่างประเทศ 7 รายได้ทุ่มตลาดแผ่นคาร์บอน และแผ่นเหล็กอัลลอยที่ตัดตามขนาดความยาวในตลาดสหรัฐ ซึ่งทำให้สหรัฐสามารถเก็บภาษีในอัตรา 3.62-148% ได้

 

ฝรั่งเศส

INSEE ซึ่งเป็นสำนักงานสถิติของฝรั่งเศสรายงานว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคฝรั่งเศสลดลง 0.8% ต่อเดือนในเดือนก.พ. โดยเป็นผลจากการดิ่งลงอย่างรุนแรงของราคาพลังงาน หลังจากฝรั่งเศสเผชิญกับภาวะอากาศอบอุ่นมากเป็นพิเศษในเดือนก.พ. ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ 10 รายในโพลล์รอยเตอร์คาดการณ์โดยเฉลี่ยว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยอาจปรับขึ้น 0.1% ต่อเดือนในเดือนก.พ. โดยตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์อยู่ในระดับ -0.6% ถึง +0.4%

 

โลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองสกุลเงินหยวนในฐานะเงินทุนสำรองของประเทศต่างๆทั่วโลกในวันนี้ ทั้งนี้ IMF เปิดเผยว่า ณ สิ้นสุดเดือนธ.ค.2016 เงินทุนสำรองสกุลเงินหยวนของประเทศต่างๆทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 8.451 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.07% ของปริมาณเงินทุนสำรองทั่วโลก ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ IMF เปิดเผยรายละเอียดการถือครองสกุลเงินหยวนในทุนสำรองของประเทศต่างๆ จากเดิมที่มีการเปิดเผยรายละเอียดของสกุลดอลลาร์สหรัฐ, ปอนด์, เยน, ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์แคนาดา, ดอลลาร์ออสเตรเลีย และยูโร ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวแสดงถึงการยอมรับของ IMF ต่อความพยายามของจีนในการเปิดเสรีสกุลเงินหยวนต่อตลาดระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่จีนทำการปฏิรูปเพื่อให้เศรษฐกิจอิงกับระบบตลาดมากขึ้น

 

เอเซีย: จีน

ผลสำรวจของทางการจีนบ่งชี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.8 ในเดือนมี.ค. จาก 51.6 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดไว้ที่ระดับ 51.6 โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงมีการขยายตัว

ผลสำรวจของทางการจีนบ่งชี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคบริการจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.1  ในเดือนมี.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2014 จากระดับ 54.2 ในเดือนก.พ. โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนยังคงมีการขยายตัว

นายเจิ้ง เจ๋อกวง รมช.ต่างประเทศของจีนกล่าวว่า จีนไม่มีนโยบายลดค่าเงินหยวนเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยเขากล่าวก่อนที่ประธานาธิบดีสี่ จิ้นผิงจะพบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นครั้งแรกท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องการค้า นายเจิ้งกล่าวว่า จีนไม่ได้หาทางทำให้มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และจีนมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมการค้าที่สมดุลมากขึ้น แต่เขาระบุว่า สหรัฐควรเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มการส่งออกมายังจีน ปธน.ทรัมป์ได้กำหนดท่าทีสำหรับสิ่งที่อาจจะเป็นการประชุมที่ตึงเครียดที่รีสอร์ท Mar-a-Lago ของเขาในสัปดาห์หน้าด้วยการระบุในทวิตเตอร์ว่า สหรัฐไม่สามารถยอมรับยอดขาดดุลการค้าและการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมหาศาลได้อีกต่อไป ทั้งนี้ ปธน.สี่ และปธน.ทรัมป์มีกำหนดพบปะกันในวันที่ 6-7 เม.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.

กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า คณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติการจัดตั้งเขตการค้าเสรีใหม่ 7 เขต  เขตการค้าเสรีใหม่นี้จะอยู่ในมณฑลเหลียวหนิง, เจ้อเจียง, เหอหนาน, หูเป่ย์, ฉงชิ่ง, เสฉวน และส่านซี เขตการค้าเสรีใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุน และจะส่งเสริมการค้าเสรีสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมัน นอกจากนี้ จีนจะสำรวจการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในเขตการค้าเสรีใหม่ด้วย

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยผลผลิตภาคโรงงานของญี่ปุ่นเติบโตในเดือนก.พ.ในอัตราสูงสุดในรอบ 8 เดือน ส่วนอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นลดลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 22 ปีในเดือนก.พ. และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของอุปสงค์ในต่างประเทศยังคงช่วยหนุนแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก อย่างไรก็ดี รายจ่ายภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับเพียง 0.1% ในเดือนก.พ. เมื่อไม่รวมผลกระทบจากราคาพลังงานและอาหารสด โดยตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เผชิญกับความยากลำบากในการทำให้ราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นปรับขึ้น 2.0% ต่อเดือนในเดือนก.พ. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.2% ต่อเดือน และถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2016 ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ปรับเพิ่มการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่  อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นลดลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ 2.8% ในเดือนก.พ. โดยปรับลดลง 0.2% จากเดือนม.ค.การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 3.8% ต่อปีในเดือนก.พ. เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในตลาดที่ -1.7% ต่อปี และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานยังไม่ได้ช่วยหนุนค่าแรงให้พุ่งขึ้นในระดับมากพอที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค

 

เกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ลดลง 3.4% ต่อเดือนในเดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นอัตราการลดลงมากที่สุดในรอบกว่า 8 ปี โดยการลดลงในครั้งนี้บดบังการปรับขึ้นในเดือนม.ค. และเป็นผลจากตัวเลขปริมาณการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ดิ่งลง 11.5% ต่อเดือนในเดือนก.พ. ผลผลิตภาคโรงงานของเกาหลีใต้เพิ่งเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนม.ค. โดยตัวเลขเดือนม.ค.ได้รับการปรับทบทวนจากระดับ +3.3% ที่เคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติเกาหลีใต้ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้เลือกใช้สต็อกสินค้าในคลังในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดขายอยู่ในภาวะเฉื่อยชาในเดือนก.พ. อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่าภาวะนี้จะดำเนินไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

ออสเตรเลีย

รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.5% ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 50 คนคาดว่า RBA จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 4 เม.ย.นี้ หลังจากที่ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีที่แล้ว ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า RBA จะคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไปของ RBA โดยนักเศรษฐศาสตร์ 8 คนจาก 47 คนคาดว่า RBA จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า เทียบกับ 7 คนที่คาดว่า RBA จะลดดอกเบี้ย

 

ไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกปีนี้ จะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาส 4/59 ที่ขยายตัว 3% นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงข่าวว่าเศรษฐกิจที่คาดไว้ทั้งปี 3.4% เติบโตส่วนใหญ่ในครึ่งปีหลัง ในครึ่งปีแรกจะใกล้เคียงกับ Q4 ปีที่แล้ว ประมาณ 3% การขยายตัวจะมาทางครึ่งปีหลังเป็นหลัก เขากล่าวด้วยว่าการลงทุนภาคเอกชนจะยังเป็นตัวฉุดการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยธปท.ประเมินว่า การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัว 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก เขากล่าวด้วยว่า ในเดือนเม.ย.นี้ ธปท.จะลดการออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อป้องกันต่างชาตินำเงินมาพักเก็งกำไรในไทย หลังจากในเดือนมี.ค.ค่าเงินผันผวน เพราะมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาพักในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก เขากล่าวว่า ธปท.มีแผนลดการออกพันธบัตรระยะสั้นลงเหลือ 3 หมื่นล้านบาทในเดือนเม.ย.จากราว 4 หมื่นล้านบาทในเดือนมี.ค. เพื่อเป็นการลดปริมาณพันธบัตรในตลาด

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน ก.พ.60 ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 2.19% ในเดือนม.ค. ขณะที่โพลล์รอยเตอร์คาดไว้ว่าเพิ่มขึ้น 0.55%  ขณะที่ เมื่อเทียบรายเดือน MPI เดือน ก.พ. ลดลง 0.91% จากเดือนก่อนหน้า เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 3.91% ในเดือนม.ค. สศอ.ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า MPI ที่ลดลงในเดือนก.พ. เป็นผลจากการผลิตที่ลดลงในอุตสาหกรรมรถยนต์, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน และน้ำมันปิโตรเลียม  ก่อนหน้านี้ สศอ.คาดว่า MPI ในปี 60 จะเพิ่มขึ้นในกรอบ 0.5-1.0% จากปี 59 ที่เพิ่มขึ้น 0.45% สศอ.ระบุว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนก.พ.อยู่ที่ 60.10% จาก 60.67% ในเดือนม.ค.

กระทรวงพาณิชย์จะรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2560 ในวันที่ 3 เมษายน 2560

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันศุกร์ (31 มีค.) เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้หลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อคืนนี้จากการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงประจำไตรมาส 4/2016 ขยายตัวเกินคาดที่ 2.1% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการครั้งก่อนที่ 1.9% ขณะเดียวกันดอลลาร์สหรัฐฯช่วงเช้าวันนี้ก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินเอเซียส่วนใหญ่ โดยแม้ว่ากรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯหลายคนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมก็ออกมาดีโดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ว่านักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หลังล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมายระบบประกันสุขภาพเมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะดำเนินการกับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯเห็นว่าได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องการทุ่มตลาดโดยการช่วยเหลือของภาครัฐ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการกำหนดค่าเงินที่ต่ำเกินจริงก็ทำให้นักลงทุนกังวลมากขึ้นว่าจะกระตุ้นให้เกิดสงครามการค้าและค่าเงินมากขึ้น

- ดอลลาร์/เยน วันศุกร์ (31 มีค.)   เงินเยนแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้หลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อคืนนี้เนื่องจากรายงานจีดีพีสหรัฐฯไตรมาส 4 ที่ขยายตัวสูงกว่าที่รายงานก่อนหน้านี้ ขณะที่วันนี้ทางการญี่ปุ่นรายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.0% ต่อเดือนในเดือนก.พ. อัตราการว่างงานลดลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่ 2.8% ในเดือนก.พ. และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 3.8% ต่อปีในเดือนก.พ. ซึ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของญี่ปุ่นยังพึ่งการส่งออกและการอ่อนค่าของเยน

- ยูโร/ดอลลาร์ วันศุกร์ ( 31 มีค.) เงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯช่วงเช้าวันนี้อย่างไรก็ดีข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศในยูโรโซนที่ประกาศออกมาโดยรวมยังคงไม่มีความชัดเจนของแนวโน้มการฟื้นตัวโดยยอดค้าปลีกของเยอรมนีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายเดือนในเดือนก.พ. แต่ลดลงเมื่อเทียบรายปี ขณะที่ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคฝรั่งเศสลดลง 0.8% ต่อเดือนในเดือนก.พ. ทั้งนี้ยูโรอ่อนค่าในช่วงตลาดสหรัฐฯ

 

Capital Market

- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันศุกร์ ( 31 มีค.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวลงในวันศุกร์ โดยหุ้นเอ็กซอนและเจพีมอร์แกน เชสถ่วงตลาดลง ขณะที่นักลงทุนรอดูรายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 0.31% สู่ระดับ 20,663.22, ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 0.23% สู่ระดับ 2,362.72 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวลง 0.04% สู่ระดับ 5,911.74

- ตลาดหุ้นเอเซีย วันศุกร์ ( 31 มีค.) ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดลดลง 0.81% มาอยู่ที่ 18,909.26 ท่ามกลางภาวะซื้อขายผันผวนในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนขายทำกำไรในวันสุดท้ายของปีงบประมาณ โดยมีแรงขายสัญญาล่วงหน้าและหุ้นชั้นนำ อาทิ กลุ่มส่งออก ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.39% มาอยู่ที่ 3,222.60 แต่ตลาดยังคงลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายสัปดาห์นับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค. ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้น และมาตรการควบคุมการลงทุนด้านอสังหาริมทัพย์ได้ลดความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน สำหรับดัชนีฮั่งเส็งปิดลดลง 0.78% สู่ระดับ 24,111.59  ขณะที่รายงานข่าวชี้ว่าไม่มีเม็ดเงินทุนไหลเข้าจากตลาดจีน เนื่องจากวันหยุดที่กำลังจะมาถึง และนักลงทุนได้ปรับสมดุลสถานะการลงทุนในช่วงปลายไตรมาสแรก ภาวะซื้อขายได้รับผลกระทบจากวันหยุดในสัปดาห์หน้า โดยตลาดหุ้นฮ่องกงจะปิดทำการในวันอังคารหน้า และตลาดหุ้นจีนจะปิดทำการในวันจันทร์และอังคารหน้าเนื่องในเทศกาลเชงเม้ง โครงการเชื่อมโยงระบบซื้อขายหุ้นระหว่างตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงถูกปิดตั้งแต่เมื่อวานนี้จนถึงพุธหน้า

- ตลาดหุ้นไทย วันศุกร์( 31 มีค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้สูงขึ้นในช่วงแรกก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงส่งผลให้ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX ลดลง 4.77 จุด โดยวันนี้มีแรงขายมากในหุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ พลังงาน และกลุ่มขนส่ง

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 3 เม.ย. 2560

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday10119
mod_vvisit_counterYesterday36228
mod_vvisit_counterAll days167302893

We have: 889 guests online
Your IP: 3.131.110.169
 , 
Today: Apr 19, 2024

11726928