Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Friday, 15 July 2016 09:06

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤษภาคม โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและภาคบริการ เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้น 0.3% (yoy) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2014 หลังจากหดตัวลง 0.1% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 0.1% เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 0.3% (mom) หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนพฤษภาคม  และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.9% (yoy) หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพฤษภาคม

ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคมทรงตัวที่ระดับ 254,000 ราย ซึ่งใกล้กับระดับ 248,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 43 ปีที่ทำไว้ในกลางเดือนเมษายน ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่จะเพิ่มขึ้น สู่ระดับ 265,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ได้อยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 71 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1973 ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่โดยเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเคลื่อนที่ 4 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 5,750 ราย สู่ระดับ 259,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องมีจำนวนเพิ่มขึ้น 32,000 ราย สู่ระดับ 2.15 ล้านราย ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 2 กรกฎาคม

นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า Fed ควรจะใช้ความอดทน และระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากผลกระทบจากการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เริ่มปรากฎชัดขึ้น โดยระบุว่า ถึงแม้ว่าผลกระทบจากปัจจัย Brexit จะไม่รุนแรงเหมือนกับวิกฤตการณ์เลห์แมน บราเธอร์สก่อนหน้านี้ แต่ผลการสำรวจบริษัทราว 1 ใน 3 พบว่า ปัจจัย Brexit ทำให้แนวโน้มยอดขายมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการจ้างงาน และใช้จ่ายทุน อย่างไรก็ดี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาแอตแลนตา ก็ระบุว่า ผลกระทบเฉพาะหน้าจากปัจจัย Brexit ที่มีต่อสหรัฐอาจจะมีไม่มากนัก แต่ผลกระทบดังกล่าวอาจยังคงอยู่เป็นเวลานานหลายปี และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงปรับตัวได้ดี โดยคาดว่าจะขยายตัว 2% ในปีนี้ โดยตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังคาดว่า เป้าหมายของเฟดในการบรรลุการจ้างงานอย่างเต็มที่ และอัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 2% จะปรากฎเป็นจริงในปีหน้า

ปัจจัยที่ควรติดตามกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)  ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เปิดเผยดัชนีการผลิตของรัฐนิวยอร์คเดือนกรกฎาคม รวมถึงข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิต ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐก็จะเปิดเผยตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจและยอดค้าปลีก ขณะที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

 

ยุโรป: อังกฤษ

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (MPC)ระบุว่า ตลาดการเงินยังคงปรับตัวไปได้ด้วยดี หลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.เพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ถึงแม้มีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาดหุ้น และการซื้อขายปอนด์ และยูโรก็ตาม นอกจากนี้ กรรมการ BoE มองว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะตัดสินผลกระทบในระยะกลางจากการลงประชามติดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในรายงานการประชุมฯ ดังกล่าวก็บ่งชี้เช่นกันว่า BoE มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเดือนหน้า หลังจากที่ BoE ทำการประเมินผลกระทบที่เศรษฐกิจอังกฤษได้รับจากการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ภาวะย่ำแย่ลงระหว่างปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว และการปรับตัวของเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่ของ MPC จึงคาดว่าจะทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ BoE ยังได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ในการคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์

สถาบันผู้สำรวจที่ได้รับอนุญาตของอังกฤษ (RICS) รายงานว่า ดัชนีราคาบ้านในอังกฤษร่วงลงสู่ระดับ -46 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี หลังจากแตะที่ระดับ -35 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ RICS ได้ทำการสำรวจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษภายหลังการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากอังกฤษ (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน

 

เอเชีย :

แนวโน้มที่ธนาคารกลางในเอเชียจะมีการผ่อนคลายนโยบายกำลังดึงดูดผู้จัดการกองทุนทั่วโลกให้เข้าซื้อพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของเอเชีย ขณะที่ผลกระทบหลังจากอังกฤษลงมติออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แม้มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯหลังจากอังกฤษลงมติออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นักลงทุนก็ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อพันธบัตรระยะยาวของเอเชีย เนื่องจากอัตราที่สูงกว่าในตลาดเงินท้องถิ่น ผู้จัดการฝ่ายตราสารหนี้ของบริษัทจัดการกองทุนในต่างประเทศกล่าวว่าขณะที่นักลงทุนเผชิญกับปริมาณพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ก็มีการหันความสนใจมาที่ตลาดที่อาจจะยังให้ผลตอบแทนอยู่บ้าง ข้อมูลจากธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆพบว่า นักลงทุนต่างประเทศซื้อพันธบัตรในอินโดนีเซียและมาเลเซียอีกครั้งในเดือนมิ.ย. หลังจากที่ขายในเดือนพ.ค. ขณะที่การลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงขายสุทธิในอินเดีย และขายในเกาหลีใต้ หลังจากที่ซื้อสุทธิ 3  เดือนติดต่อกัน นักลงทุนระบุว่าเศรษฐกิจของเอเชียในขณะนี้อยู่ในสถานะที่พร้อมจะรับมือกับความผันผวนทั่วโลกได้ดีกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีระบบที่แข็งแกร่งขึ้น

 

ญี่ปุ่น

นายโคอิชิ ฮามาดะ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นกล่าวว่าญี่ปุ่นไม่ควรที่จะหันไปใช้นโยบาย "โปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์" (helicopter money) หรือการพิมพ์เงินใหม่จำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการทำเช่นนั้นจะเท่ากับว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เข้ามารับประกันหนี้ภาครัฐโดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงมาก นายฮามาดะ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน และทำสิ่งนี้ในฐานะมาตรการพิเศษเพียงครั้งเดียว อาจจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น นักลงทุนบางรายคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นอาจตัดสินใจที่จะเลือกใช้นโยบาย "โปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์"  แต่นายฮามาดะกล่าวว่า เขาต่อต้านแนวคิดในการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างเป็นระบบในญี่ปุ่น และเขาต่อต้านการปรับแก้กฎหมายเพื่อที่บีโอเจจะได้สามารถรับประกันหนี้รัฐบาลได้โดยตรง แทนที่บีโอเจจะใช้วิธีเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากตลาด นายฮามาดะกล่าวต่อรอยเตอร์ว่า "มีโอกาสที่ญี่ปุ่นจะสูญเสียการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ" และเขากล่าวเสริมว่า "การจัดตั้งระบบในญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถพิมพ์เงินได้มากเท่าที่ต้องการ จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างร้ายแรงในอนาคต"

 

เกาหลีใต้

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ตามคาดในวันนี้ เพื่อประเมินผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และเพื่อศึกษาผลกระทบจากภาวะไม่แน่นอนในตลาดโลก หลังจากอังกฤษโหวตถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ในวันที่ 23 มิ.ย.

 

สิงคโปร์

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่า บริษัทสิงคโปร์ เอ็กซ์เชนจ์  ลิมิเต็ด (SGX หรือบริษัทตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์) ได้ระงับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันพฤหัสที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค และธนาคารกลางกำลังจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด  SGX เปิดเผยว่า ได้ระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนช่วงเที่ยงวันพฤหัสที่ผ่านมาเนื่องจากมีการส่งข้อความยืนยันการซื้อขายที่ซ้ำกัน

จับตาการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนมิถุนายน 2559 และอัตราการขยายตัวของจีดีพีจีนไตรมาสสอง

 

ไทย

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุ มีเงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น หลังอังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู) หรือ Brexit แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล ขณะที่ยอมรับว่า อัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนมากขึ้นจากการที่เงินทุนเคลื่อนย้าย ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ซึ่งเป็นวันที่ตลาดรับทราบผล Brexit จนถึงเมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2559 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วราว 2.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA ) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ถึงวันที่ 8 ก.ค. มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยราว 2.34 หมื่นล้านบาท เขากล่าวว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศที่เข้ามาสู่ตลาดเกิดใหม่และประเทศไทยเพิ่มขึ้น เกิดจากมุมมองของนักลงทุนที่เห็นว่าธนาคารกลางขนาดใหญ่อาจจะต้องยืดระยะเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป  รวมทั้งเกิดความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและอังกฤษ ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารกลางของอังกฤษ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า ธปท.มีเครื่องมือเพียงพออยู่แล้ว ในการดูแลผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการค้าขายเชิงลึก โดยใช้ Strategic partnership โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน, อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV  โดยปีนี้การส่งออกไม่ดี ดังนั้นต้องเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการค้าขายเชิงลึก ต้องไปคิดว่าอุตสาหกรรมใด เรามีความต้องการ และเขามี

ความต้องการให้ไปคุยจุดนั้น จีนสิ้นปีนี้จะมีการหารือ FTA ดูอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เขามาลงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีจะเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับจีน, อินเดีย, กัมพูชา, ศรีลังกา, ปากีสถาน และตุรกี ซึ่งบางประเทศไม่อยากเจรจาทุกสินค้า ก็จะหยิบยกบางสินค้ามาหารือ โดย  2 ประเทศแรกคือ อินเดีย และจีน ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เผยว่า รองนายกรัฐมนตรีมองว่า ไทยมีโอกาสเรื่องการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น หลังอังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู)หรือ Brexit โดยในช่วงต่อไปการเจรจาในลักษณะสองประเทศจะมีมากขึ้น ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และกลุ่มหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ก็ยังทำได้ไม่เร็วนัก ดังนั้นไทยควรเจรจาโดยใช้ strategic partnership เพื่อเพิ่มโอกาสดังกล่าว RCEP เป็นกลุ่มการค้าที่มีจีนเป็นผู้นำและมีประเทศสมาชิก 16 ประเทศ  ขณะที่ TPP มีสหรัฐเป็นผู้นำ และมีประเทศสมาชิก 12 ประเทศ  นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่าไทยมีเป้าหมายการเจรจา 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่  กลุ่ม CLMV(กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาร์ และ เวียดนาม), กลุ่ม 5 ประเทศ ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ และกลุ่มสุดท้ายประเทศอื่นๆ  อาทิ อิหร่าน รัสเซีย และตุรกี

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันพฤหัส (14 กค.) เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้ขณะที่ค่าเงินเอเซียส่วนใหญ่ก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกันตามภาวะที่นักลงทุนคาดการณ์ในทางบวกเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆส่งผลให้มีแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

- ดอลลาร์/เยน วันพฤหัส ( 14 กค.)   เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้สอดคล้องกับทิศทางที่เยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯค่อนข้างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้เนื่องจากความต้องการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมีมากขึ้นหลังการคาดการณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น และแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

- ยูโร/ดอลลาร์ วันพฤหัส ( 14 กค.) เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้เช่นเดียวกับเงินปอนด์ที่แข็งค่าเช่นกันหลังอังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยนางเทเรซา เมย์ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อวานนี้ และมีภารกิจในการนำพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit โดยนายกอังกฤษได้ประกาศแต่งตั้งผู้นำในกลุ่มผู้สนับสนุน Brexit ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลชุดใหม่ด้วย ทั้งนี้อังกฤษเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำอียูที่ต้องการให้ยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้เพื่อถอนตัวออกจากอียู โดยหลังจากการยื่นเรื่องแล้วอังกฤษจะมีเวลา 2 ปีในการถอนตัวออกจากอียู    อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรีอังกฤษอธิบายว่าเราจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเตรียมการสำหรับการเจรจาต่อรองและกล่าวถึงความหวังที่ว่าจะมีการเจรจากันในเชิงสร้างสรรค์และในทางบวก

 

Capital Market

- ตลาดสหรัฐฯ วันพฤหัส ( 14 กค.)  ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยหุ้นกลุ่มการเงินหนุนดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันพฤหัสบดี หลังเจพีมอร์แกนเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า การทะยานขึ้นของตลาดวอลล์สตรีทจะสามารถดำเนินต่อไปได้นาน ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก  0.73% สู่ 18,506.41 ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น  0.53% สู่ 2,163.75 และดัชนี Nasdaq   ปิดปรับตัวขึ้น  0.57% สู่ 5,034.06

- ตลาดหุ้นเอเชีย วันพฤหัส ( 14 กค.)  ดัชนีนิกเกอิวันนี้ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.95% โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่เงินเยนกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสัปดาห์นี้ประกอบกับการคาดการณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวันนี้ปิดตลาดลดลง 0.22% และดัชนีฮั่งเส็งปิดสูงขึ้น 1.22% โดยภาพรวมสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นเอเซียค่อนข้างมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากมีหลายปัจจัยบวกสนับสนุน ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯออกมาดี ขณะที่มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนอังกฤษก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วกว่าที่คาดไว้ซึ่งก็น่าจะทำให้มีการเตรียมตัวก่อนเจรจากับ EU ได้มากขึ้น ส่วนญี่ปุ่นพรรครัฐบาลก็ชนะการเลือกตั้งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งก็ทำให้มีความมั่นใจสูงขึ้นในการที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ธนาคารกลางหลายแห่งก็ยังมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งภาวะที่สภาพคล่องทางการเงินในระบบการเงินโลกเพิ่มขึ้น และจำนวนพันธบัตรรัฐบาลหรือสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมีไม่พอความต้องการ ก็ทำให้เงินทุนส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนในหุ้นมากขึ้น

- ตลาดหุ้นไทย วันพฤหัส ( 14 กค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 สอดคล้องกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียเนื่องจากมุมมองของนักลงทุนที่เป็นบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนจากหลายปัจจัยรวมทั้งแนวโน้มสภาพคล่องทางการเงินในระบบการเงินโลกที่เพิ่มขึ้น โดยวันนี้นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 3,998.54 ล้านบาท ส่งผลให้ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้น 11.08 จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 15 ก.ค. 2559

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday6909
mod_vvisit_counterYesterday36228
mod_vvisit_counterAll days167299683

We have: 696 guests online
Your IP: 18.221.208.183
 , 
Today: Apr 19, 2024

4208408