Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Wednesday, 14 September 2016 09:15

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลกลางสหรัฐในเดือนสิงหาคม ประสบภาวะขาดดุลงบประมาณ 1.071 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากระดับ 1.128 แสนล้านดอลลาร์ของเดือนกรกฎาคม ส่วนตัวเลขขาดดุลงบประมาณในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน เพิ่มสู่ระดับ 6.208 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.1% จากปีงบประมาณที่แล้ว ทางด้านสำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) ได้ปรับทบทวนคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณในปี 2016 สู่ระดับ 5.90 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ปีงบประมาณปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ และคาดว่าในเดือนนี้รัฐบาลสหรัฐจะมีงบประมาณเกินดุล ซึ่ง CBO คาดว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะใกล้เคียงระดับ 5.999 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทีรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามาคาดการณ์ไว้ โดยรัฐบาลสหรัฐประสบภาวะขาดดุลงบประมาณ 4.391 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2015 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน รัฐบาลมีรายได้ 2.91 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.9% จากปีที่แล้ว ขณะที่มีรายจ่าย 3.53 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีที่แล้ว นอกจากนี้ CBO ยังคาดว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณลดลงในช่วง 1 ทศวรรษข้างหน้า โดยลดลง 7.12 แสนล้านดอลลาร์จากที่มีการคาดการณ์ในเดือนมี.ค.

สำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ รายงานว่า ครัวเรือนของสหรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 5.2% ในปีที่แล้ว สู่ระดับ 56,516 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ระดับรายได้ดังกล่าวยังคงต่ำกว่าค่ากลางของระดับรายได้ในปี 2007 ซึ่งอยู่ที่ 57,423 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น นอกจากนี้ ระดับรายได้ในขณะนี้ ได้สูงกว่าในปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาเริ่มเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็ยังต่ำกว่าราว 2.4% จากระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ที่  57,909 ดอลลาร์ในปี 1999 ขณะเดียวกัน จำนวนคนยากจนในสหรัฐได้ลดลงอย่างมากในปีที่แล้ว สู่ระดับ 13.5% จากเกือบ 14.8% ก่อนหน้านี้ ซึ่งนับเป็นการลดความยากจนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 โดยมีคนยากจน 43.1 ล้านคนในปีที่แล้ว ลดลง 3.5 ล้านคนเมื่อเทียบจากปี 2014 ส่วนชาวอเมริกัน 2.4 ล้านคนสามารถทำงานเต็มเวลาตลอดทั้งปี ในปี 2015 ซึ่งสำนักงานสำมะโนประชากรระบุว่า ชาวอเมริกันกลุ่มที่ยากจนที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งนี้ ชาวอเมริกันกลุ่มที่ยากจนที่สุด ซึ่งมีสัดส่วน 10% ของภาคครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น 7.9% ขณะที่กลุ่มคนร่ำรวย ซึ่งมีสัดส่วน 10% ของภาคครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.9%

ธนาคารเจพีมอร์แกน เชสขึ้นแท่นตำแหน่งธนาคารสหรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาด โดยสามารถแซงหน้าธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ซึ่งครองตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2013 ทั้งนี้ ราคาหุ้นของเวลส์ ฟาร์โกดิ่งลง 3% ในการซื้อขายวันนี้ ขณะที่ราคาหุ้นของเจพีมอร์แกน เชสร่วงลง 1.7% ส่งผลให้เจพีมอร์แกน เชสมีมูลค่าตลาดเกือบ 2.382 แสนล้านดอลลาร์ แซงหน้าเวลส์ ฟาร์โกที่มีมูลค่าตลาดเกือบ 2.377 แสนล้านดอลลาร์ โดยราคาหุ้นของเวลส์ ฟาร์โกทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดในวันนี้ นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันประกาศผลการลงประชามติในอังกฤษที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และเป็นการปรับตัวลง 3 วันติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. ทั้งนี้ ราคาหุ้นของเวลส์ ฟาร์โกถูกกดดันในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ธนาคารถูกปรับเป็นเงินมูลค่า 185 ล้านดอลลาร์ จากการที่พนักงานเปิดบัญชีลูกค้าปลอมเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านบัญชี เพื่อให้สามารถบรรลุเป้ายอดขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร ด้านเวลส์ ฟาร์โกแถลงว่า ทางธนาคารจะยกเลิกการกำหนดยอดขายผลิตภัณฑ์ด้านลูกค้ารายย่อย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีหน้า

ปัจจัยที่ควรติดตามได้แก่ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยราคานำเข้าและส่งออกเดือนส.ค.

 

ยุโรป: เยอรมนี

สำนักงานสถิติเยอรมัน รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบจากตัวเลขของเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายปี โดยสาเหตุที่ทำให้ดัชนี CPI ชะลอตัวลงนั้น มาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง 5.9% (yoy) การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อของประเทศยูโรโซนส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พยายามใช้มาตรการกระตุ้นเงินเฟ้อ อันได้แก่ มาตรการกู้ยืมเงินระยะยาวขึ้น นโยบายดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ และโครงการซื้อสินทรัพย์เดือนละ 8 หมื่นล้านยูโร

กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีเปิดเผยในรายงานประจำเดือนว่า เศรษฐกิจของประเทศยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่คาดว่า อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจเยอรมันขยายตัวที่ระดับ 0.7% และ 0.4% ในไตรมาสที่ 2 โดยมีอุปสงค์ในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สำหรับตลาดแรงงานนั้นยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี ทว่าปัจจัยภายนอกยังคงเป็นอุปสรรค อาทิ การที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของเยอรมันมีความไม่แน่นอน อนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับตัวลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุดได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจด้วย โดยทางกระทรวงระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงขยายตัวในระดับปานกลาง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป หรือ ZEW รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ +0.5  ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +2.5 และต่ำกว่าระดับ +24.1 ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยในระยะยาว โดยดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่น่าผิดหวัง อย่างไรก็ดี นายอาชิม แวมบาค ประธาน ZEW กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะยังคงฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 7.3 สู่ระดับ +0.5 ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมลดลงสู่ระดับ -6.8 จากระดับ +19.2 จุดในเดือนมิถุนายน อันเนื่องมาจากผลโหวต Brexit โดยตัวเลขเดือนกรกฎาคมถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 และลดลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ +9.0

 

เอเชีย :  ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหันมาคาดการณ์ในทางบวกต่อสถานการณ์ทางธุรกิจในไตรมาส 3 และบริษัทญี่ปุ่นปรับทบทวนแผนลงทุนด้านทุนให้สูงขึ้น โดยสิ่งนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจกำลังเติบโตเร็วขึ้น กระทรวงการคลังญี่ปุ่นและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมในสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลสำรวจ โดยระบุว่าดัชนีผลสำรวจธุรกิจ (BSI) ซึ่งใช้วัดความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่อยู่ที่ +2.9 ในไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. โดยเพิ่มขึ้นจาก -11.1 ในไตรมาสเดือนเม.ย.-มิ.ย.ผลสำรวจระบุว่า บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นสู่ +8.6 ในไตรมาสเดือนต.ค.-ธ.ค.บริษัทญี่ปุ่นวางแผนจะปรับเพิ่มงบลงทุนด้านทุนขึ้น 4.9 % ในปีงบประมาณปัจจุบัน (เม.ย. 2016-มี.ค. 2017) โดยตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 3.8 % ดัชนี BSI นี้คำนวณจากการนำเปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่คาดว่า ภาวะแวดล้อมทางธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น มาหักลบด้วยเปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่คาดว่า ภาวะแวดล้อมจะย่ำแย่ลง

 

จีน

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนขยายตัวในอัตราที่ทรงตัวที่ 8.1% ในเดือนม.ค.-ส.ค. ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.0%  ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนม.ค.-ส.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 6.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 6.0% ในเดือนก.ค. และการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 10.6% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 10.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 10.2% ในเดือนก.ค. เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจากการใช้จ่ายมากขึ้นของรัฐบาล และการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่การลงทุนในภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า จีนผลิตถ่านหินได้ 278 ล้านตันในเดือนส.ค. ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ผลิตตอบรับมาตรการจัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินของจีน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตถ่านหินในช่วง 8 เดือนแรกแตะระดับ 2.17 พันล้านตัน ลดลง 10.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันดิบของจีนลดลงเกือบ 10% ในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ขณะที่ราคาที่ระดับต่ำยังคงกระทบผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งนี้จีนผลิตน้ำมันดิบได้ 16.45 ล้านตัน (3.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2009 เมื่อเทียบรายวัน การผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงของจีนสะท้อนถึงความวิตกของกลุ่มพลังงานชั้นนำของจีน ซึ่งกำลังประสบปัญหาในการคงการผลิตต่อไป

บริษัทกลั่นน้ำมันของรัฐบาลจีนพร้อมที่จะส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ในขณะที่ตลาดน้ำมันจีนมีแนวโน้มซบเซาในไตรมาส 4 ของปีนี้ ถึงแม้ว่าช่วงไตรมาส 4 มักจะเป็นช่วงที่ปริมาณการใช้น้ำมันในจีนพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดของปีก็ตาม และแนวโน้มนี้จะส่งผลลบต่อตลาดน้ำมันโลกที่ประสบภาวะน้ำมันล้นตลาดอยู่แล้ว อุปสงค์ในการใช้น้ำมันทำความร้อนในจีนมักจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และคาดกันว่าปริมาณการใช้รถจะพุ่งสูงในช่วงวันหยุดยาว 1 สัปดาห์ในเดือนต.ค. อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์, เทรดเดอร์ และบริษัทกลั่นน้ำมันกว่าสิบแห่งในจีนระบุว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้จะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำมันล้นตลาดและจากปริมาณการใช้น้ำมันที่ระดับต่ำภายในประเทศ อุปสงค์น้ำมันอยูในภาวะเฉื่อยชาในปีนี้ และบริษัทกลั่นน้ำมันอิสระขนาดเล็กในจีนก็ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมาก  และส่งผลให้สต็อกน้ำมันภายในจีนพุ่งสูงขึ้น และกระตุ้นให้บริษัทน้ำมันของรัฐบาลจีนนำผลิตภัณฑ์น้ำมันไปขายในต่างประเทศ ทั้งนี้จีนเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลกโดยรองจากสหรัฐ

สัญญาเหล็กกล้าของจีนลดลงต่อเนื่องมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ในวันอังคารที่ผ่านมาจากความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ในจีน ซึ่งฉุดราคาสินแร่เหล็กลดลง ความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของอุปสงค์ หลังจากภาวะซบเซาในฤดูร้อนท่ามกลางการผลิตเหล็กกล้าอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความวิตกว่า ราคาอาจจะเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติม จีนได้ดำเนินความพยายามมากขึ้นในการลดกำลังการผลิตเหล็กกล้าส่วนเกิน โดยได้ปรับท่าทีที่เข้มงวดขึ้นในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และปิดโรงงานขนาดเล็กหลายแห่ง อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์คาดว่ารัฐบาลจะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายประจำปีแต่ก็จะไม่เกินเป้าหมายดังกล่าว จีนประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตเหล็กกล้าลง 45 ล้านตันในปีนี้ และการลดการผลิตในช่วง 7 เดือนแรกของปีมีจำนวนรวม 47% ของเป้าหมายประจำปี ซึ่งทำให้จีนประกาศว่าจะเร่งอัตราการลดกำลังการผลิต

 

ไทย

คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบต่ออายุการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนก.ย.นี้ เพื่อรักษาแรงส่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความอ่อนแอ และมีความผันผวนของตลาดการเงินโลก

คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการประชุมในวันที่ 14 กันยายน 2559

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันอังคาร (13 กย.) เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินเอเซีย อย่างไรก็ดีในส่วนของดอลลาร์สหรัฐฯวันนี้ปัจจัยหนุนให้แข็งค่าจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี่อ่อนลงเนื่องจากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหลายคนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยนางลาเอล เบรนนาร์ด หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวว่า Fed ควรดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการฟื้นตัว พร้อมแนะนำให้ Fedใช้ความระมัดระวังมิให้ปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ขณะที่มีความวิตกต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ  ทั้งยังระบุว่า ตลาดเกิดใหม่ และจีน ยังคงมีความเสี่ยงในช่วงขาลง ขณะที่ขณะที่นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้าและนายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนีอาโปลิสระบุว่า เฟดไม่มีความเร่งด่วนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯดอลลาร์สหรัฐฯปรับแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญทั้งเยนและยูโร รวมทั้งเงินบาท

- ดอลลาร์/เยน วันอังคาร (13 กย.)   เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวันจันทร์จากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหลายคนกล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯไม่ควรเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯดอลลาร์สหรัฐฯปรับแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน

- ยูโร/ดอลลาร์ วันอังคาร ( 13 กย.) เงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้เนื่องจากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหลายคนที่ชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯดอลลาร์สหรัฐฯปรับแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร

 

Capital Market

- ตลาดสหรัฐฯ วันอังคาร ( 13 กย.)ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดลดลงอย่างหนักในวันอังคาร โดยหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงตามราคาน้ำมัน และหุ้นกลุ่มการเงินลดลง ทั้งนี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลดลง 1.41% สู่ 18,066.75, ดัชนี S&P 500 ปิดลด 1.48% สู่ 2,127.02 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวลง 1.09% สู่ 5,155.26

- ตลาดหุ้นเอเชีย วันอังคาร ( 13 กย.)  ดัชนีตลาดหุ้นเอเซียหลายตลาดปิดตลดลงในวันนี้แม้ว่าวันนี้นักลงทุนจะคลายความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหลังจากที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหลายคนกล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป โดยนางลาเอล เบรนนาร์ด หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวว่า Fed ควรดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการฟื้นตัว พร้อมแนะนำให้ Fedใช้ความระมัดระวังมิให้ปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ขณะที่มีความวิตกต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ  ทั้งยังระบุว่า ตลาดเกิดใหม่ และจีน ยังคงมีความเสี่ยงในช่วงขาลง ทั้งนี้ดัชนีนิกเกอิวันนี้ปิดตลาดสูงขึ้น 0.34% ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหันมาคาดการณ์ในทางบวกต่อสถานการณ์ทางธุรกิจในไตรมาส 3 และบริษัทญี่ปุ่นปรับทบทวนแผนลงทุนด้านทุนให้สูงขึ้น ส่วนดัชนีเซี่ยงไอ้คอมโพสิตวันนี้ปิดเพิ่มขึ้น 0.06% โดยวันนี้ทางการจีนรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 10.6%การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัว 8.1% ในเดือนม.ค.-ส.ค.

- ตลาดหุ้นไทย วันอังคาร( 13 กย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ปืดเพิ่มขึ้น 34.99 จุด ขณะที่วันนี้นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 4,164.3 ล้านบาท ต่อเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ซื้อสุทธิ 3,424.32 ล้านบาท

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 14 ก.ย. 2559

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday47201
mod_vvisit_counterYesterday44435
mod_vvisit_counterAll days166347150

We have: 505 guests, 1 members online
Your IP: 44.215.110.142
 , 
Today: Mar 28, 2024

4204408