Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Wednesday, 04 October 2017 09:20

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัสกล่าวในวันจันทร์ว่า เฟดจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังในประเด็นที่ว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.หรือไม่ อย่างไรก็ดี เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นแตะระดับเป้าหมายที่ 2% หรือแม้แต่รอให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นสู่เป้าหมายก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายแคปแลนเป็นสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ในปีนี้ โดยเขากล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาจำเป็นต้องได้เห็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แรงผลักดันตามวัฏจักรเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่มากพอที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับสูงขึ้นในอนาคต ถึงแม้เขายังไม่เห็นหลักฐานดังกล่าวในปัจจุบัน เงื่อนไขของนายแคปแลนแตกต่างไปจากเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่เฟดคนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงนายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิส โดยนายแคชคารีระบุในวันจันทร์ว่า เขาต้องการจะเห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นไปแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความเห็นของนายแคปแลนอาจจะสอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค. ในขณะที่อัตราการว่างงานในสหรัฐอยู่ที่ 4.4% และมีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตในอัตราที่รวดเร็วมากพอที่จะทำให้การจ้างงานในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นไปอีก นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดเคยกล่าวว่า เขาเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% ในระยะกลาง ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อลดลงในปีนี้แทนที่จะปรับขึ้น นายแคปแลนกล่าวย้ำความเห็นของเขาที่ว่า เฟด "สามารถใช้ความอดทน" ในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในปีหน้า เพราะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ความเห็นดังกล่าวนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีลดลงในปีนี้ และอยู่ที่ระดับราว 2.3% ในช่วงนี้ โดยนายแคปแลนกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรนี้เป็นปัจจัยที่จำกัดว่า เฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สูงถึงระดับใด นายแคปแลนกล่าวว่า "เรามีโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะปรับขึ้นได้ไม่สูงเท่ากับที่บางคนคาดการณ์ไว้" และเขากล่าวเสริมว่า เฟดจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า เราควรจะดำเนินการเพิ่มเติมในเดือนธ.ค.หรือไม่ และเขาก็ยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้

 

ยุโรป: ยูโรโซน

นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวในวันอังคารที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า การเจรจาเรื่องที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ยังไม่มีความคืบหน้ามากพอที่จะเปิดโอกาสให้อียูเริ่มต้นการเจรจาต่อรองเรื่องความสัมพันธ์กับอังกฤษหลัง Brexit นายยุงเกอร์กล่าวต่อรัฐสภายุโรปที่เมืองสตราสบูร์กว่า จนถึงตอนนี้เขาก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า อียูพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สองของการเจรจาต่อรอง

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (eurostat) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในยูโรโซนเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI ของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบรายปี โดยการเพิ่มขึ้นของ PPI ได้แรงหนุนจากราคาพลังงาน และสินค้าขั้นกลางที่ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของดัชนี PPI เป็นการบ่งชี้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เนื่องจากผู้ผลิตมักจะผลักภาระการเพิ่มขึ้นของราคาดังกล่าว

 

อังกฤษ

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้เปิดเผยรายงานที่มีชื่อว่า "Purple Book" ซึ่งระบุถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับธนาคารต่างๆ ในการรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น รายงานดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะคุ้มครองผู้เสียภาษีในกรณีที่ธนาคารยักษ์ใหญ่ประสบปัญหาจนถึงขั้นปิดกิจการ โดยได้มีการกำหนดถึงเรื่องเงินทุนที่ธนาคารจะต้องสำรองไว้ รวมทั้งแนวทางการปรับโครงสร้าง ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ใหม่เหล่านี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565

นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุเตือนนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า อย่ามองข้ามนายมิเชล บาร์นิเยร์ ผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ในกรณีที่มีการเจรจาต่อรองเรื่องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) พร้อมยืนกรานว่า ข้อตกลงจะเกิดขึ้นได้ก็ในการประชุมเพื่อเจรจาต่อรองเท่านั้น  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ฟลอเรนซ์ว่า รัฐบาลต้องการให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระยะหนึ่ง ก่อนที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ดีก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุเตือนในรายงานเสถียรภาพทางการเงินระดับโลกประจำปี 2017 ว่า การก่อหนี้ในระดับสูงของภาคครัวเรือนอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตการเงินในระยะกลาง โดยรายงานระบุว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ในภาคครัวเรือนได้กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน และด้านเศรษฐกิจระดับมหภาคในระยะกลาง นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า หนี้ในภาคครัวเรือนในประเทศเศรษฐกิจที่มีการพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตทางการเงินทั่วโลก โดยหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้นจากระดับ 15% ในปี 2008 สู่ระดับ 21% ในปี 2016 ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว เพิ่มขึ้นจากระดับ 52% ในปี 2008 สู่ระดับ 63% ในปี 2016

 

เอเชีย : ญี่ปุ่น

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า การคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อของบริษัทญี่ปุ่นปรับลดลงเล็กน้อยในเดือนก.ย.เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อน และสิ่งนี้เป็นสัญญาณที่น่ากังวลที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญปัญหาความเชื่อเรื่องภาวะเงินฝืดต่อไป บริษัทที่ตอบแบบสำรวจของบีโอเจคาดว่า ราคาผู้บริโภคอาจปรับขึ้น 0.7% ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +0.8% ที่เคยคาดไว้เมื่อ 3 เดือนก่อน บริษัทญี่ปุ่นคาดว่า ราคาผู้บริโภคอาจปรับขึ้น 1.1% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเท่ากับตัวเลขคาดการณ์ในผลสำรวจครั้งก่อน เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ แต่ราคาผู้บริโภคปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย และปัจจัยนี้อาจกระตุ้นเสียงเรียกร้องให้บีโอเจขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกไปอีก หรือเรียกร้องให้บีโอเจปรับเปลี่ยนวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสระบุว่า แผนการของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และในการนำรายรับบางส่วนมาใช้ในโครงการด้านการศึกษาและสวัสดิการเป็นแผนการที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย นายคริสเตียน เด กุซมาน รองประธานฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศของมูดี้ส์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ว่า กำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจงในการที่ญี่ปุ่นจะมียอดเกินดุลงบประมาณเบื้องต้น ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ตราบใดที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีภาระผูกพันในการปฏิรูปการคลังในระยะกลาง นายเด กุซมานกล่าวว่า มาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของนายอาเบะเริ่มส่งผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงที่มีต่ออันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะสมดุล  นายกรัฐมนตรีอาเบะประกาศยุบสภาล่างของญี่ปุ่นในเดือนก.ย. และประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 22 ต.ค.นี้  นายอาเบะต้องการจะเดินหน้าแผนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนต.ค. 2019 และจะนำรายได้บางส่วนมาใช้สนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กวัยอนุบาลแทนที่จะนำเงินมาใช้ชำระหนี้ ทั้งนี้ มูดี้ส์จัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นไว้ที่ A1 ซึ่งต่ำกว่าอันดับสูงสุด 4 ขั้น โดยมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ

 

ออสเตรเลีย

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.50% ในวันอังคารที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่า RBA ไม่รีบเร่งที่จะทำตามธนาคารกลางทั่วโลกในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อต่ำ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่แข็งค่า RBA แสดงความกังวลต่ออัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นต่ำ และดอลลาร์ออสเตรเลียที่แข็งค่า ซึ่งกำลังเพิ่มแรงกดดันด้านราคาในเศรษฐกิจ

 

ไทย

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดในช่วงวันที่ 1-8 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันชาติจีน หรือ Golden Week จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย จำนวน 2.6 แสนคน ขยายตัวถึง 35% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสร้างรายได้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในเอกสารเผยแพร่ว่ากระทรวงฯ คาดว่าจะมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจีนในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดด้วยว่า ตลอดทั้งเดือนต.ค.นี้ จะมี นักท่องเที่ยวจีนมาไทยกว่า 6 แสนคน ขยายตัวกว่า 20% และสร้างรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ จะมีจำนวนราว 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 10% จากปีที่ผ่านมา โดยมาจากแรงหนุนของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกในปี 60 เป็นไม่ต่ำกว่า 6% จากเดิมคาดไว้ 5% หลังการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ 8.9% นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวในเอกสารเผยแพร่ว่า การเติบโตของการส่งออก ในช่วงที่ผ่านมา ได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของสินค้าไทยให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด รวมถึงทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยมีปัจจัยเสี่ยง จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และยังคงมีความผันผวนในระยะสั้น และการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนอุปสรรคทางด้านโลจิสตก์ และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา สภาผู้ส่งออกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกของไทยในปี 60 เป็นขยายตัว 5% จากเดิมคาดเติบโต 2.5-3.5% ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก และสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีทิศทางดีขึ้นในไตรมาส 4

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 60 เป็นเติบโต 3.7-4.0% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5-4.0% โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกปีนี้เป็นขยายตัว 6.5-7.5% จากก่อนหน้านี้ที่ 3.5-4.5% หลังการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ กกร.ยังปรับกรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ มาที่ 0.5-1.0% จากเดิมคาดไว้ 0.5-1.5% แม้มองอัตราเงินเฟ้ออาจจะขยับขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ถ้าดูเฉลี่ยตลอดทั้งปีแล้ว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.0% ที่ประชุม กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากแรงส่งการส่งออกที่เติบโตสูงกว่าคาด ประกอบกับการขยายตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน ตลอดจนเริ่มมีสัญญาณบวกจากการทยอยฟื้นตัว ของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะสถานการณ์ในต่างประเทศ อาทิ การเมืองในสหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่น รวมทั้งความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินยังปรับตัวผันผวน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาท

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันอังคาร (3 ตค.) เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้หลังจากที่เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมาซึ่งผลการประชุมชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้และกำหนดแผนชัดเจนในการที่จะลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯลง ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมาก็ดีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังไม่ใกล้เป้า 2% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่กรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯส่วนใหญ่ก็มองว่าไม่จำเป็นที่อัตราเงินเฟ้อจะต้องขึ้นไปใกล้ 2% โดยธนาคารกลางสหรัฐฯจะสามารถค่อยๆขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้เพื่อจะไม่ต้องไปเร่งขึ้นในตอนหลัง อย่างไรก็ดีเนื่องจากปัจจัยการเมืองสหรัฐฯขณะนี้ค่อนข้างไม่นิ่ง และอาจจะส่งผลต่อการดำเนินมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯได้ ดังนั้นความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่อาจจะถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวได้ ขณะที่สัปดาห์นี้ในวันศุกร์ต้องจับตาการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯเดือนกันยายน 2560

- ดอลลาร์/เยน เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้เนื่องจากช่วงนี้นักลงทุนให้น้ำหนักต่อปัจจัยเรื่องแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯมากขึ้น

- ยูโร/ดอลลาร์ วันอังคาร (3 ตค.) เงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ ในขณะที่ช่วงนี้ดอลลาร์สหรัฐฯได้ปัจจัยหนุนจากเรื่องการคาดการณ์แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯปรับมามีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินส่วนใหญ่

 

Capital Market

- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันอังคาร (3  ตค.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันในวันอังคาร จากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งรวมถึงข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนหุ้นที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ อาทิ หุ้นกลุ่มวัสดุและกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงหุ้นกลุ่มสายการบิน และหุ้นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์บวกขึ้นหลังการเปิดเผยยอดขายรถยนต์ที่แข็งแกร่งในเดือนก.ย. ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 0.37% สู่ระดับ 22,641.67, ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 0.22% สู่ระดับ 2,534.58 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 0.23% สู่ระดับ 6,531.71

- ตลาดหุ้นเอเซีย วันอังคาร (3 ตค.) ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดเพิ่มขึ้น 1.05% สู่ระดับ 20,614.07 โดยปัจจัยหนุนมาจากเงินเยนที่มีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ตลาดหุ้นจีนปิดทำการตั้งแต่วันที่ 2-6 ต.ค.นี้เนื่องในวันชาติ และจะเปิดทำการอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 9 ต.คส่วนดัชนีฮั่งเส็งปิดเพิ่มขึ้น 2.25% สู่ระดับ 28,173.21 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในวันเดียวเมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2016  ส่วนดัชนีหุ้นเอช หรือหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดเพิ่มขึ้น 3.62% มาอยู่ที่ 11,305.38 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในวันเดียวเมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2016 โดยเมื่อวันเสาร์ ธนาคารกลางจีนได้ลดสัดส่วน RRR ลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนก.พ.2016 เพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อมากขึ้นแก่บริษัทขนาดย่อมที่มีสถานะย่ำแย่

- ตลาดหุ้นไทย วันอังคาร ( 3 ตค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้เคลื่อนไหวแกว่งตัวผันผวนในช่วงแคบๆ โดยวันนี้มีแรงซื้อมากในหุ้นกลุ่มพลังงาน และพาณิชย์ และมีแรงขายมากในหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มขนส่ง โดยปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้น 1.82 จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 4 ต.ค. 2560

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday45186
mod_vvisit_counterYesterday52922
mod_vvisit_counterAll days166398057

We have: 707 guests online
Your IP: 52.23.201.145
 , 
Today: Mar 29, 2024

6199432