จีนขยับลงทุนและขยายตลาดรถยนต์สู่ต่างประเทศ ไทยควรเร่งรับมือ |
![]() |
![]() |
![]() |
Friday, 17 April 2020 17:59 | |||
ประเด็นสำคัญ เข้าปี 2563 อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกต่างก็ต้องเผชิญกับภาวะกดดันอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งจากการขาดแคลนชิ้นส่วนผลิต และความต้องการซื้อที่ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ทิศทางเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นคืน ความต้องการรถยนต์น่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ช่วงเวลาขณะนี้อาจเป็นจังหวะเหมาะที่ภาคส่วนต่างๆในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะได้กลับมาพิจารณาถึงแผนยุทธศาสตร์ต่างๆของประเทศ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีเมื่อตลาดเปิดอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งรายใหม่อย่างรถยนต์สัญชาติจีนค่อยๆแผ่ขยายเข้าสู่ตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทยเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบการส่งออก ซึ่งล่าสุดในปี 2562 จีนสามารถส่งออกรถยนต์ได้ 1,024,823 คัน (เพิ่มขึ้นจาก 755,500 คัน ในปี 2558) ใกล้เคียงกับตัวเลขส่งออก 1,054,103 คันของไทย ทั้งที่ไทยส่งออกเกินกว่าล้านคันตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว และในรูปแบบของการเข้าไปลงทุนประกอบรถยนต์จากชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนแบบ CKD หรือ SKD ยังโรงงานสังกัดค่ายรถยนต์จีนในประเทศต่างๆอีกหลายแห่ง ซึ่งมีทั้งรูปแบบรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก (PHEV และ BEV) จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าย่อมจะส่งผลต่อไทยทั้งในแง่ลบและบวก เนื่องจากไทยเองก็เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค และมีแผนสนับสนุนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วย ดังจะกล่าวถึงต่อไป ไทยอาจเสียตลาดส่งออกหรือมีโอกาสขยายตลาดส่งออกใหม่ลดลง...หากไม่เร่งดึงดูดการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า หลังความพยายามของรัฐบาลจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมาในการผลักดันค่ายรถยนต์สัญชาติจีนให้ขึ้นมาแข่งขันได้ในตลาดโลก ทั้งการสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นผ่านการร่วมทุนกับค่ายรถรายใหญ่ของโลกที่เข้ามาผลิตรถยนต์ในประเทศ รวมถึงในระยะหลังมีการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุนกับค่ายรถที่เดิมอยู่ภายใต้เครือข่ายของค่ายรถยนต์รายใหญ่อื่นๆที่ต้องการตัดลดต้นทุนกิจการหลังประสบปัญหาทางการเงิน เป็นผลให้ค่ายรถสัญชาติจีนสามารถพัฒนาทั้งเทคโนโลยียานยนต์และการออกแบบที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันรถยนต์สัญชาติจีนหลายค่ายได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นตามลำดับจากตลาดโลก โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับจุดแข็งที่สำคัญเรื่องความสามารถในการตั้งราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่ง อันเป็นผลจากการผลิตที่ได้ Economies of Scale ทั้ง supply chain จากการผลิตรถยนต์รวมที่สูงมากในประเทศ โดยทิศทางที่กล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเห็นผลกระทบที่เกิดต่อไทยจากการดำเนินการรุกตลาดของค่ายรถยนต์สัญชาติจีนผ่าน 2 ทางหลัก ได้แก่ การส่งออกไปยังตลาดส่งออกเดิมของไทยและการเข้าไปลงทุนในตลาดส่งออกเดิมของไทย ดังต่อไปนี้ การส่งออกจากไทยไปประเทศผู้นำเข้าหลักเดิมหดตัวลง สวนทางกับการส่งออกจากจีนไปยังประเทศเหล่านั้นที่เพิ่มขึ้น โดยออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักอันดับ 1 และ 2 ของไทยเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทั้งรถยนต์นั่งและรถปิกอัพสัญชาติจีนสามารถทำยอดขายได้ดีสวนทางรถยนต์สัญชาติอื่นที่พากันหดตัว จากทิศทางดังกล่าวซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเมื่อกำลังการผลิตรถยนต์ของจีนเกินกว่าความต้องการภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากไทยไม่มีการเตรียมกลยุทธ์ที่เหมาะสมไว้รับมือตั้งแต่ตอนนี้ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และพลาดโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์ได้มากขึ้นในอนาคตด้วย โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับตลาดรวม ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยยังอยู่ในภาวะที่เพิ่งจะเริ่มต้นลงทุนได้ไม่นาน ซึ่งแม้ปัจจุบันจีนจะยังมีข้อด้อยในเรื่องความกังวลของผู้บริโภคต่อมาตรฐานรถยนต์และความปลอดภัยอยู่บ้างในบางค่าย เนื่องจากผู้บริโภคมีมุมมองต่อภาพลักษณ์เดิมของรถยนต์สัญชาติจีนที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่ค่ายรถต่างๆของจีนจะพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าจีนสามารถรุกเข้าสู่ตลาดประเทศพัฒนาได้แล้ว ดังตารางต่อไปนี้ การเข้าไปลงทุนในตลาดส่งออกหลักเดิมของไทยหรือการเข้าไปลงทุนในประเทศใกล้เคียงกับตลาดส่งออกหลักเดิมของไทย ทำให้โอกาสส่งออกรถยนต์ไทยลดลงไปยังประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าไปลงทุนของค่ายรถยนต์สัญชาติจีน ทำให้ผู้บริโภคในประเทศที่ผลิตและประเทศที่นำเข้ามีทางเลือกในการซื้อรถยนต์ซึ่งมีระดับราคาแข่งขันได้ในตลาดมากขึ้น โอกาสที่จะนำเข้ารถยนต์จากไทยก็ลดลงตามยกตัวอย่างกรณีค่ายรถยนต์สัญชาติมาเลเซียรายหนึ่งที่เมื่อถูกควบรวมกับค่ายรถยนต์สัญชาติจีน ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์นั่งในรูปชิ้นส่วน CKD จากจีนเพื่อมาประกอบในมาเลเซียสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 746.7 ในปี 2562 โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 507 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งแม้ไทยจะส่งออกเพิ่มเช่นกันที่ร้อยละ 5.1 แต่มูลค่าการส่งออกก็น้อยกว่ามากเพียง 135 ล้านดอลลาร์ฯ และในอนาคตถ้ารถยนต์นั่งส่งออกจากไทยไม่มีแรงกระตุ้นมากพอ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากรถยนต์นั่งสัญชาติจีนที่มีระดับราคาต่ำกว่าในมาเลเซียอย่างไม่อาจเลี่ยง ถึงแม้ปัจจุบันไทยจะยังเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของบางค่ายรถยนต์สัญชาติจีน โดยมีแผนเข้ามาลงทุนและพัฒนารถยนต์ในประเทศ รวมถึงวางตำแหน่งให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆในปริมาณที่สูง ทำให้ไทยยังได้รับผลดีจากแนวนโยบายออกไปลงทุนต่างประเทศอยู่บ้างก็ตาม ทว่า ในระยะยาวหากไทยไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดที่มากพอให้จีนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ค่ายรถสัญชาติจีนก็มีโอกาสที่จะมองการขยายไปยังฐานการผลิตอื่นซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีต้นทุนการผลิตไม่สูงและมีโอกาสส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงได้ง่าย โดยเฉพาะผ่านความตกลง FTA ต่างๆแบบเดียวกับไทยได้เช่นกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อรุกตลาดอาเซียนและโอเชีนเนีย ขณะที่เข้าลงทุนตลาดเม็กซิโก บราซิล เพื่อบุกตลาดทวีปอเมริกา ขณะที่การลงทุนในอียิปต์สามารถเข้าบุกตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาได้ง่าย และเข้าลงทุนในอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออกเพื่อส่งออกไปยังทวีปยุโรป เป็นต้น ดังที่ปัจจุบันเริ่มมีการเข้าไปลงทุนบ้างแล้วตามตารางต่อไปนี้ อนึ่ง แม้การส่งออกและเข้าไปลงทุนของจีนในประเทศนำเข้าหลักของไทยจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ ICE จากไทยอยู่บ้างในปัจจุบันดังกล่าว ทว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่า ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์ ICE เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากค่ายรถยนต์สัญชาติจีนที่ทำตลาดได้ดีในต่างประเทศ ณ ขณะนี้ เป็นค่ายที่มีการลงทุนในไทยแล้ว หรือมีแผนจะลงทุนในไทยในระยะอันใกล้ ดังนั้นหากค่ายรถเหล่านี้มีแผนลงทุนในไทยในรุ่นที่ได้รับการตอบรับจากตลาดส่งออกดี รวมถึงไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากค่ายรถยนต์สัญชาติจีนรายอื่นซึ่งมีศักยภาพเช่นกันให้เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์เปิดตลาดรถยนต์โลกของจีนได้แทนการเป็นคู่แข่งขันในแต่ละตลาด โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ค่ายรถยนต์และบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มเล็งเห็นมากขึ้นถึงการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายฐานการลงทุนออกไปยังประเทศที่อยู่นอกจีนมากขึ้น จึงยิ่งเป็นโอกาสสำหรับไทยในอนาคตหากมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างเหมาะสมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่หากมองถึงอนาคตข้างหน้าซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น และไทยเองก็กำลังอยู่ระหว่างการสร้างประเทศให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ซึ่งล่าสุดพบว่าไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีความชัดเจนมากสุดในเรื่องแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊กจากหลายค่ายรถยนต์ทั้งสัญชาติญี่ปุ่น สัญชาติตะวันตก และกระทั่งจากจีนเองที่แม้ว่าจะยังมีเพียงรายเดียวขณะนี้ แต่การลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนซึ่งมีหลายค่ายที่ทำตลาดดังกล่าวอยู่อาจเกิดขึ้นได้ในไทยมากขึ้น ซึ่งอาจต้องมีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อในตลาด อันจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุนตามมาในอนาคตไม่เพียงแต่เฉพาะค่ายรถยนต์สัญชาติจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อค่ายรถยนต์สัญชาติจีนดำเนินกลยุทธ์มุ่งรุกตลาดส่งออกและรุกลงทุนผลิตรถยนต์ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หลังการชะลอตัวลงของตลาดรถยนต์ในประเทศของจีน แม้ว่าอาจส่งผลดีต่อผู้บริโภคไทยในแง่ของการมีทางเลือกในตลาดมากขึ้น และเป็นโอกาสให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจการขายและให้บริการหลังการขายรูปแบบต่างๆที่เพิ่มขึ้น ทว่าในอีกมุมหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศของค่ายรถที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วในไทยได้ทั้งสัญชาติญี่ปุ่นและตะวันตกอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นมีประเภทรถยนต์ที่ทำตลาดอยู่ในระดับเดียวกันกับรถยนต์สัญชาติจีนอยู่หลายรุ่น ทั้งในกลุ่มรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ ที่อาจต้องเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นและอาจสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปบางส่วนหลังต้องเจอกับคู่แข่งเป็นรถยนต์ราคาประหยัดกว่าจากค่ายรถสัญชาติจีน ซึ่งแต่ละค่ายรถอาจต้องมีการวางแผนรับมือในสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนของค่ายรถยนต์จีนเพิ่มในไทย แม้จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยบางส่วนที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนผลิตรถยนต์สัญชาติจีนที่เข้ามาลงทุนได้ เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนมีลักษณะที่ไม่ยึดติดกับเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นบริษัทลูกหรือสัญชาติเดียวกันแบบค่ายรถญี่ปุ่น นอกจากนี้หากค่ายรถยนต์สัญชาติจีนต้องการส่งออกรถยนต์ไปยังอาเซียนและโอเชียเนียโดยใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ผ่านข้อตกลง FTA ก็จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 40 ตามกฏว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า แต่ถึงกระนั้น การจะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ของจีนคงไม่ง่ายนัก เมื่อจีนเน้นการจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ต่ำลงโดยยังคงระดับมาตรฐานคุณภาพ เพื่อสามารถผลิตรถยนต์ที่มีระดับราคาต่ำกว่าคู่แข่งได้ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นหากต้องการเข้าไปอยู่ในสายการผลิตรถยนต์ของจีน ทั้งจากชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากจีนเองที่ก็มีการทำข้อตกลง FTA ร่วมกันกับไทย รวมถึงปัจจุบันมีการเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงด้วย โดยสรุป หลังผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การกลับมาเร่งรุกตลาดของค่ายรถยนต์จีนที่เพิ่มขึ้นทั้งในมุมของการส่งออกและการไปลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศต่างๆต่อเนื่องจากที่ทำมาตลอดช่วงที่ผ่านมา อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนภูมิทัศน์การแข่งขันในตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยอีกระยะข้างหน้า เมื่อรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นค่ายหลักของไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดส่งออกหลักหลายแห่งของไทยจากการเข้ามาตีตลาดของรถยนต์สัญชาติจีน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ที่จีนมุ่งพัฒนา ซึ่งหากจีนยังคงผลิตมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อสร้าง Economies of scale ถึงจุดหนึ่งที่เกินความต้องการในประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ที่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอาจต้องส่งออกมายังตลาดต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าไทยพอจะทำได้เพื่อลดผลกระทบจากการแผ่ขยายตลาดส่งออกรถยนต์ของจีน อาจเป็นการพิจารณาร่วมสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลิตรถยนต์กับจีน โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไทยมีโอกาสจะเสียผลประโยชน์ได้จากการที่จีนสามารถนำเข้ารถยนต์เข้ามาไทยได้โดยตรงโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลง FTA ที่ทำร่วมกันกับจีน และยังรวมไปถึงโอกาสที่จีนจะส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรงไปยังประเทศอื่นๆที่มีการทำ FTA ด้วยในลักษณะเดียวกันกับไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนและโอเชียเนีย ส่วนการปกป้องฐานตลาดส่งออกอื่นซึ่งก็เริ่มเห็นทิศทางของการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และการเข้าไปลงทุนผลิตจากจีนเช่นเดียวกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มทวีปยุโรป อเมริกาใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ไทยอาจพิจารณาเร่งสร้างความตกลงการค้าเสรีร่วมกันกับประเทศเหล่านั้น เพื่อหาโอกาสทั้งสำหรับการดึงดูดการลงทุนเข้าไทยและการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศต่างๆมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ขณะนี้ยังเป็นโอกาสของไทยเนื่องจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอื่นยังไม่แพร่หลายมากนัก ดังนั้นท่ามกลางกระแสการออกไปลงทุนยังต่างประเทศของจีนเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าและการหาโอกาสทำตลาดในประเทศใหม่ๆโดยเฉพาะการเจาะตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา รวมถึงการกระจายความเสี่ยงหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนตในการผลิตรถยนต์ไปทั่วโลก ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดการลงทุนของค่ายรถที่มีศักยภาพจากจีนให้เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
|
![]() | Today | 1306 |
![]() | All days | 1306 |
Comments