คปภ. แนะการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ |
Wednesday, 11 January 2012 18:03 | |||
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัย ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต 300,000 บาท
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ผู้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญตั้งแต่ปี 2553 สามารถนำหลักฐานการชำระเบี้ยประกันชีวิตที่ระบุข้อความแนบท้าย “เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194)” เป็นหลักฐานในการยื่นหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 300,000 บาท สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาทแรก ให้หักเต็มจำนวนก่อน ส่วนวงเงินที่อีกเหลือ 200,000 บาท ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประกันชีวิตแบบบำนาญปัจจุบันเป็นที่นิยมของประชาชน เนื่องจากเป็นการประกันชีวิตที่มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุเมื่อยามเกษียณ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินบำนาญเป็นรายงวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญากรมธรรม์ ทั้งนี้ รูปแบบของการประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้ มีรายละเอียดดังนี้ 1. ระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปีขึ้นไป ซึ่งการนับระยะเวลาเอาประกันภัยดังกล่าวให้เริ่มนับตั้งแต่อายุเริ่มทำประกันชีวิต จนถึงอายุสุดท้ายที่รับบำนาญ 2. เงื่อนไขการจ่ายบำนาญ ให้เริ่มจ่ายเงินบำนาญอย่างน้อยตั้งแต่อายุ 55 ปี ขึ้นไป จนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี 3. ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใดก่อนรับเงินบำนาญ ยกเว้นผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต 4. ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใด ณ วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัย หรือวัน ครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยปีสุดท้ายก่อนรับเงินบำนาญ 5. การจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญในช่วงรับบำนาญต้องกำหนดจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ เช่น รายปี รายเดือน เป็นต้น 6. ชื่อผลิตภัณฑ์ต้องมีวงเล็บว่าเป็น “บำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เงื่อนไขของสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญระบุให้ผู้เอาประกันภัย สามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้ก่อนวันครบกำหนดที่จะได้รับเงินบำนาญก็ตาม ผู้เอาประกันภัยที่มีความจำเป็นต้องเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบกำหนด ควรระมัดระวังในการเวนคืนกรมธรรม์แบบนี้ด้วย เพราะนอกจากจะเสียสิทธิในการนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีนั้นๆ แล้ว อาจจะต้องจ่ายเงินในส่วนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีในปีก่อนๆ พร้อมคืนเงินเพิ่มให้แก่สรรพากรอีกด้วย
|
Today | 1206 | |
All days | 1206 |
Comments