ดัชนีอุตสาหกรรมพ.ค.ฟื้นตัวแต่ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนเพิ่ม |
Wednesday, 20 June 2012 17:27 | |||
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 106.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.0 ในเดือนเมษายน จากยอดคำสั่งซื้อยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และมีค่าเกิน 100 เป็นเดือนที่ 4 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี การบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้เข้าสู่ภาวะปกติจากปัญหาอุทกภัยในระยะที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ความกังวลต่อเศรษฐกิจยุโรปเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเมืองในประเทศ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 111.1 ลดลงจากระดับ112.6 ในเดือนเมษายน จากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางอยู่ที่ 99.8 และ 106.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.7 และ103.3 ในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ที่ระดับ 109.3 ปรับลดลงจาก 113.3 ในเดือนเมษายน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ของอุตสาหกรรมขนาดย่อมอยู่ที่ระดับ 110.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.5 ในเดือนเมษายน และดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ อยู่ที่ระดับ 111.9 และ110.7 ลดลงจากระดับ 112.8 และ116.5 ในเดือนเมษายนตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.ชะลอการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทในพื้นที่ 70 จังหวัด 2.หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23) 3. ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และ 4.สร้างเสถียรภาพทางการเมือง
อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 99.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.7 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมแก้วและกระจกอุตสาหกรรมเซรามิค อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการและเครื่องจักรกลการเกษตร ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 108.5 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 106.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.3 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศอุตสาหกรรมยา อุตสากรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.9 ลดลงจากระดับ 112.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 109.3 ลดลงจากระดับ 113.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมพลาสติก
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 116.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคม พบว่า ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน
ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม ทรงตัวที่ระดับ 106.3 โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 106.6 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายจากต่างประเทศและต้นทุนประกอบการ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ เห็นได้จากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และเสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (มียอดส่งออกไปประเทศในยุโรปและตะวันออกกลางลดลง) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์หนัง มียอดส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและจีนลดลง) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ (มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกงลดลง เนื่องจากมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่ง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 111.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายรวม ยอดขายจากต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 111.5 ลดลงจากระดับ 112.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดจีน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้(ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูป มียอดส่งออกไปประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลดลง) อุตสากรรมยานยนต์(ยอดการส่งรถจักรยานต์ ไปประเทศอเมริกา ยุโรป ลดลง) อุตสาหกรรมพลาสติก(ยอดคำสั่งซื้อภาชนะบนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติก จากประเทศมาเลเซีย และฮ่องกงลดลง)
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.4 ลดลงจากระดับ 118.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 102.5 ลดลงจากระดับ 104.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ยังเป็นประเด็นสำคัญของภาคการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออก อาหารทะเล และอาหารทะเลแช่แข็ง ประกอบกับ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงาน ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา
สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร(อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูปอาหาร ปลาป่นลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรปอเมริกา ปริมาณผลผลิตกุ้งมีขนาดเล็กทำให้ราคาปรับลดลง การส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และอเมริกาลดลง) อุตสาหกรรมก๊าซ(ยอดขายก๊าซออกซิเจนในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม(เนื่องจากปริมาณปาล์มลดลงในเดือนก่อน ส่งผลให้มียอดการผลิตลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 115.9 ลดลงจากระดับ 118.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 106.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ รายได้ของภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรได้ส่งผลดีการบริโภคในภาคเหนือ
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(มียอดส่งออกเสื้อผ้ากีฬาไปประเทศแถบยุโรปเพิ่มขึ้น ยอดขายชุดนักเรียน ชุดนักศึกษาและเสื้อผ้าแฟชั่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ(กระดาษคราฟท์มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีน ฮ่องกงและสิงคโปร์เพิ่มขึ้น ยอดขายกระดาษแข็งในประเทศเพิ่มขึ้น) หัตถอุตสาหกรรม (ยอดสั่งซื้อสินค้าประเภท ดอกไม้ประดิษฐ์ ภาชนะเคลือบดินเผา จากประเทศจีน เกาหลีและอินเดียเพิ่มขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 101.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวดี สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยเสี่ยงของปัญหาอุทกภัยมีน้อย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงกังวลปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ด้าย ไหม จากประเทศอเมริกาและออสเตรเลียเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมรองเท้า(สินค้าประเภท รองเท้านักเรียน รองเท้าผ้าใบ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเหล็ก (ปริมาณการใช้แผ่นเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น จากการก่อสร้างต่างๆ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.0 ลดลงจากระดับ 113.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าดัชนีฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับลดลงจากเดือนเมษายนกลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ)ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 106.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.4 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(มียอดขายชุดนักเรียนชุดนักศึกษาและเสื้อผ้าแฟชั่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเหล็ก(ปริมาณการใช้แผ่นเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น จากการก่อสร้างต่างๆ) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล การเกษตร(ยอดขายรถไถนา เครื่องจักรที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น) เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 112.1 ลดลงจากระดับ 113.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
และกลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 102.4 ลดลงจากระดับ 107.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร(อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูอาหาร ปลาป่น ลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรปอเมริกา(ปริมาณผลผลิตกุ้งมีขนาดเล็กทำให้ราคาปรับลดลง การส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และอเมริกาลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ(มียอดส่งออกไปประเทศในยุโรปและตะวันออกกลางลดลง) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์(มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกงลดลง เนื่องจากมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่ง) เป็นต้น
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ106.1 ลดลงจากระดับ 109.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ มากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกระทบของราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ
|
Today | 853 | |
All days | 853 |
Comments