Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Hot News ชำแหละ...! กระแสต้าน “ร่างประกาศห้ามซิมดับ”
ชำแหละ...! กระแสต้าน “ร่างประกาศห้ามซิมดับ” PDF Print E-mail
Monday, 19 August 2013 18:24

ภายหลังจากที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ได้เขียนบทความพิเศษลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2556 เรื่อง มองต่างมุม .. ข้อเรียกร้องให้เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz เป็นประโยชน์ต่อ ประชาชน ประเทศชาติจริงหรือ ..? ”  ซึ่งได้มีบทความโต้ตอบ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ในทันที  อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ดร.สุทธิพล วิเคราะห์ประเด็นได้ลึกซึ้ง และโดนกล่องดวงใจของผู้จ้องจะให้เกิดสภาวะซิมดับอย่างจัง จนต้องร้อนรนดิ้นให้มีกระบวนการโต้กลับ แต่ด้วยการที่เร่งตอบโต้จนไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล ทำให้การโต้แย้งของกระบวนการที่ต้องการให้ซิมดับไม่มีน้ำหนัก โดยนำประเด็นเก่าเรื่องประมูล 3G มากล่าวถึง ซึ่งในขณะนี้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะก่อนที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะประเมินผล คนกลุ่มนี้อาจจะทำให้คนที่ไม่ทราบข้อมูลเข้าใจผิดได้ แต่เมื่อไอทียูให้เครดิตผลการประมูล 3G ที่ กสทช. ดำเนินการว่าเหนือชั้นได้มาตรฐานสากล และขณะนี้ผู้รับใบอนุญาตกำลังแข่งขันกันในการเปิดให้บริการ 3G ทำให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาระบบการสื่อสารของไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้น ประเด็นที่มีการบิดเบือนข้อมูลว่า กสทช. จัดประมูล 3G ทำให้ประเทศชาติเสียหาย จึงเป็นตรงกันข้ามกับความจริง และผู้ที่พยายามบิดเบือนข้อมูล จึงไม่สามารถหลอกคนไทยได้อีกต่อไป 

 

สำหรับประเด็นที่วิจารณ์ว่า กทค. ด้านกฎหมาย ดร.สุทธิพล กลับไม่ชี้แจงถึงประเด็นฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการขยายระยะเวลาคืนคลื่น   นั้น

 

เป็นเรื่องที่ผู้วิจารณ์เสนอความจริงบางส่วน เนื่องจากว่า ดร.สุทธิพลได้ยืนยันก่อนหน้านี้แล้วว่า กสทช. มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 47  และการออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ดังกล่าว มิใช่การขยายระยะเวลาการคืนคลื่นแต่อย่างใด หากไม่มีการออกประกาศห้ามซิมดับจะเกิดสุญญากาศ ช่วงการเปลี่ยนผ่านและผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากสภาวะ ซิมดับ  ส่วนการที่มีกลุ่มนักกฎหมายออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ที่แตกต่างออกไปก็มิใช่เรื่องใหม่ กสทช. ได้พิจารณาผลดีผลเสียและทางเลือกที่มีการเสนอมาครบถ้วน ตลอดจนความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะซิมดับแล้ว เห็นว่าจะต้องยืนอยู่ข้างประชาชนด้วยการออกมาตรการทางกฎหมายห้ามซิมดับ เพื่อมิให้ผู้บริโภคจำนวนกว่า 17 ล้านคนเดือดร้อน

 

ส่วนประเด็นที่วิจารณ์ว่าเอกชนที่เข้าประมูลอย่างเอไอเอส ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคลื่น 2.1 GHz ที่ประมูลไปนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงอยากให้มีการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังหมดสัมปทานโดยเร็ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นความต้องการประมูลคลื่นของภาคเอกชนนั้น

 

 เป็นการนำคำสัมภาษณ์ของเอกชนเพียงรายเดียวคือเอไอเอสว่ามีความต้องการประมูลคลื่นโดยเร็วมานำเสนอเลย โดยมิได้วิเคราะห์สภาพตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในขณะนี้ ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน และผู้ประกอบการรายอื่นๆ มีความพร้อมหรือไม่ เท่าที่ทราบผู้ประกอบการย่อมจะไม่ยอมรับว่าตนไม่พร้อมในการประมูล เช่น ทุนไม่พร้อม เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนและผู้ถือหุ้น 

 

ประเด็นที่วิจารณ์ว่า คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ ได้เสนอให้ กทค. เร่งประชาสัมพันธ์และจัดประมูลให้ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมถึงนำเสนอแนวทางในการเยียวยาผู้บริโภคโดยไม่จำเป็นต้องยืดระยะเวลาคืนคลื่นออกไป เช่น การนำคลื่น 1800 MHz ที่ยังว่างอยู่มาใช้รองรับผู้บริโภคหลังสิ้นสุดสัมปทาน เพราะเห็นว่า กสทช. ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไป ดังนั้น ข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ที่ถูกอ้างถึงจึงไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงแต่อย่างใดนั้น

 

ข้อวิจารณ์นี้ก็คลาดเคลื่อนเพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ ไม่เคยมีมติเสนอให้เร่งจัดประมูลให้ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน ทั้งยังเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบภายหลังที่สัมปทานสิ้นสุด รวมทั้งไม่ได้ระบุว่า กสทช. ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการขยายระยะเวลาคืนคลื่น เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นทางกฎหมายที่อยู่ในดุลพินิจของ กสทช. ที่จะต้องพิจารณา  ทั้งนี้ มีหลักฐานยืนยันจากรายงานข้อเสนอของคณะอนุกรรมการดังกล่าว และบันทึกของประธานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้วิจารณ์มุ่งแต่การโต้แย้งจนไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง  

 

สำหรับประเด็นที่วิจารณ์ว่า  หาก กสทช. ดำเนินแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น และจัดให้มีการประมูลล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ชนะการประมูลย่อมมีเวลาที่จะเจรจากับ กสทฯ เพื่อขอเช่าโครงข่าย และ กสทฯ ก็มีแนวโน้มที่จะให้เช่า เพราะย่อมดีกว่าปล่อยโครงข่ายเอาไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร  นั้น

 

ข้อวิจารณ์นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้วิจารณ์ขาดความเข้าใจในประเด็นทางเทคนิคและสภาพอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยในปัจจุบัน ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าโครงข่ายที่ผู้รับสัมปทานคลื่น 1800 MHz  ต้องยกให้ กสทฯ เมื่อสัมปทานสิ้นสุดคือโครงข่าย 2G ซึ่งปัจจุบันล้าสมัยและไม่สามารถนำมาใช้ได้กับบริการ 3G และ 4G  ฉะนั้น การพิจารณาว่า กสทช. ควรจะจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz เมื่อใด ย่อมจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังและไม่สามารถนำคลื่นออกประมูลโดยที่ปัจจัยต่างๆ ยังไม่พร้อม เนื่องจาก แม้จะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ก็ไม่แน่ว่าผู้ประกอบการรายเดิมจะชนะการประมูลฯ ซึ่งหากผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ก็ย่อมจะเน้นการใช้คลื่นเพื่อให้บริการ 4G ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ใช้โครงข่ายของ กสทฯ เนื่องจากรองรับได้เฉพาะบริการ 2G เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเช่าโครงข่ายของ กสทฯ แต่จะเร่งในการสร้างโครงข่ายขึ้นใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการรายเดิมเป็นผู้ชนะการประมูลก็มิได้หมายความว่าจะต้องการเช่าโครงข่าย 2G ของ กสทฯ  เนื่องจากมีแนวโน้มจะนำคลื่นมาใช้สำหรับบริการ 4G เช่นกัน ฉะนั้น การไปเร่งจัดประมูลคลื่น 1800 ก่อนสิ้นสุดสัมปทานโดยหวังว่าจะสามารถเยียวยาผู้ใช้บริการไม่ให้ซิมดับ จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งนอกจากไม่สามารถเยียวยาผู้ใช้บริการได้แล้ว ยังจะไปสร้างปัญหาทำให้การจัดประมูลในขณะที่ปัจจัยต่างๆ ไม่พร้อม ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อันเป็นการขัดหน้าที่ของ กสทช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47

 

 อีกประเด็นที่มีการวิจารณ์ว่า  หาก ดร.สุทธิพลเชื่อว่าคลื่น 1800 MHz จะถูกนำไปใช้ให้บริการ 4G อย่างแน่นอน ทางออกเดียวในการเยียวยาผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการ 2G ต่อไป คือการย้ายค่ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น เพราะนั่นหมายถึงการตัดความเป็นไปได้ที่ผู้ชนะการประมูลจะให้บริการ 2G ต่อจากรายเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ ซึ่งในกรณีนี้ กสทช. ก็ควรเร่งให้เกิดการโอนย้ายลูกค้าก่อนหน้านี้ 1 ปี โดยไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไปนั้น 

 

การที่วิจารณ์เช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าผู้วิจารณ์ไม่เข้าใจประเด็นข้อกฎหมายและไม่พิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบ เนื่องจากในช่วงที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุด หาก กสทช. ไปกระตุ้นให้เกิดการโอนย้าย เหมือนกับที่กรรมการ กสทช. คนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็จะเกิดผลกระทบและเกิดการครหาว่า กสทช. ไปเอื้อให้ผู้ประกอบการอีกรายที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุด ได้ประโยชน์ ขณะที่ทำให้รัฐคือ กสทฯ เสียประโยชน์ เพราะ กสทช. ไปช่วยให้มีการเร่งการโอนย้ายทั้งๆ ที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุด โดยเมื่อพิจารณาอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในช่วงที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุดก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า กสทช. ยังไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้มีการโอนย้ายและจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง

 

ดังนั้น กรณีที่ผู้เขียนบทความได้โต้ตอบบทความ มองต่างมุม.. มานั้น นอกจากมิได้อยู่บนพื้นฐานการแสดงความเห็นโดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลแล้ว ยังเป็นมุมมองที่แคบ เพียงเพื่อต้องการสนับสนุนการเร่งให้จัดประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งการเร่งรัดการประมูลดังกล่าว นอกจากมิได้แก้ปัญหาให้แก่ผู้บริโภคกรณีซิมดับแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ขาดการวิเคราะห์อย่างรอบคอบและรอบด้าน มิได้คำนึงถึงสภาพอุตสาหกรรมที่ผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานยังมีความเห็นที่แตกต่างกันไปคนละทาง มิได้คำนึงถึงความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากบทเรียนกรณีการคัดค้านการประมูล 3G ที่ผ่านมา 

การเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปยังโครงข่ายอื่นโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและความสมัครใจของผู้ใช้บริการเป็นแนวคิดที่เป็นการผลักภาระ และสร้างความเสี่ยงให้แก่ผู้ใช้บริการ  รวมทั้งไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นแนวคิดที่ขาดหัวใจในการคุ้มครองต่อผู้บริโภค 

               

โดยล่าสุด มติ กสทช.ครั้งที่ 8/2556 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 เห็นชอบร่างประกาศห้ามซิมดับ ด้วยคะแนน 9:2 ทำให้มาตรการทางกฎหมายที่จะคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านฉลุย สำหรับ 2 คะแนนเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศห้ามซิมดับ ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ 17-18 ล้านคน ก็คือ นพ.ประวิทย์   ลี่สถาพรวงศา กับ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งเป็นกรรมการ กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค

 

             การออกประกาศฯ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ หรือประกาศห้ามซิมดับดังกล่าว จึงเป็นแนวทางที่จำเป็นและถูกต้อง โดยยืนอยู่ข้างประโยชน์ของประชาชน  โดยเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านเลขหมายที่จะได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดสภาวะ ซิมดับเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน และเพื่อไม่ให้เกิดสภาพสุญญากาศในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาต การมองปัญหา ตลอดจนการใช้และการตีความกฎหมายในเรื่องนี้ จึงต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ทั้งยังต้องเข้าใจสภาพปัญหา ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทั้งนี้  กทค. และสำนักงาน กสทช. ยังคงต้องทำงานอย่างหนักในการดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองต่อผู้บริโภคและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง  

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday451
mod_vvisit_counterAll days451

We have: 450 guests online
Your IP: 3.146.178.174
Mozilla 5.0, 
Today: Nov 11, 2024

8398920