ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยดีขึ้น |
![]() |
![]() |
![]() |
Monday, 16 October 2017 08:58 | |||
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50 ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง มีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ดี ในทางตรงข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง มีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ไม่ดี โดยให้น้ำหนักในการคำนวณดัชนี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) ต่อบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Non-listed Companies) เป็น 60 : 40 ภาพรวม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) เท่ากับ 54.8 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่ระดับ 53.1 จุด ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด ดัชนีที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การลงทุน และต้นทุนการประกอบการ แต่ในด้านยอดขาย การจ้างงาน และการเปิดโครงการใหม่มีการปรับลดลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ในไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 61.0 จุด ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่บ้าง ซึ่งมีค่าเท่ากับ 67.0 จุด แต่ผลของดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด ดัชนีที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน และการเปิดโครงการใหม่ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากการคาดการณ์ผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจลดลงในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2560 ประกอบกับปัจจัยในด้านต้นทุนการประกอบการที่มีการปรับเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นต่อภาวะด้านอุปสงค์ในตลาด ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในมุมมองด้านอุปสงค์ในตลาด คือ ในไตรมาส 3 ปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ด้านยอดขายมีค่าเท่ากับ 53.1 จุด ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 53.7 จุด แต่ยังใกล้เคียงเดิมและอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด ซึ่งสะท้อนในทิศทางเดียวกันกับผลจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค1 ที่ยังฟื้นตัวไม่มากนักในไตรมาส 3 ปี 2560 ประกอบกับผู้บริโภคมีความตระหนักในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ในด้านผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 53.4 จุด ซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีค่า 45.4 จุด ได้สะท้อนว่าการปรับตัวของผู้ประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการลงทุนเปิดโครงการใหม่ในกลุ่มระดับราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผลของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ในมุมมองของผู้ประกอบการด้านอุปสงค์สะท้อนให้เห็นมุมมองเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านยอดขายและผลประกอบการ 1 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อภาวะด้านอุปทานในตลาด ผลการสำรวจได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในมุมมองด้านอุปทานในตลาด ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 61.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 61.4 จุด ขณะที่ดัชนีในด้านการเปิดโครงการใหม่ไตรมาส 3 ปี 2560 เท่ากับ 59.3 จุด มีการลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 60.4 จุด ประกอบกับยังมีผลให้การจ้างงานลดลงด้วย โดยมีค่าดัชนีของไตรมาส 3 ปี 2560 เท่ากับ 56.2 จุด ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 57.4 จุด เช่นกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯในด้านอุปทานทั้ง 3 ด้าน ได้สะท้อนว่า ผู้ประกอบการยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในโครงการใหม่ๆแต่จะเป็นไปอย่างระมัดระวังซึ่งอาจมุ่งเน้นการลงทุนโดยไม่เน้นการขยายโครงการแต่จะมุ่งเน้นโครงการที่ตอบสนองตลาดและกำลังซื้อของผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ของศูนย์ข้อมูลฯ ณ ครึ่งแรก ปี 2560 พบว่าผู้ประกอบการมีการเปิดโครงการใหม่ในระดับราคาสูง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ความเชื่อมั่นต่อด้านต้นทุนการประกอบการ ผลการสำรวจได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในมุมมองด้านต้นทุน โดยดัชนีต้นทุนการประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 45.0 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 40.1 ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง2 ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดซีเมนต์ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์เหล็กที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
ดัชนีความเชื่อมั่นใน 6 เดือนข้างหน้า สำหรับดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ของผู้ประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 61.0 จุด ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 67.0 จุด อย่างไรก็ตามในภาพรวมแนวโน้มในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการที่ยังมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย โดยดัชนีในแต่ละด้านยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังในการลงทุนและจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่มาก จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากการคาดการณ์ผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจลดลงในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2560
|
![]() | Today | 910 |
![]() | All days | 910 |
Comments