สรรพสามิตปักหมุดเดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2050 โชว์ผลจัดเก็บ 11 เดือน จำนวน 482,026 ล้าน |
Monday, 30 September 2024 23:23 | |||
สรรพสามิต โชว์ผลงานกรม ESG หน่วยราชการแรกตั้งเป้า Net Zero ปี 2050 เผยผลจัดเก็บรายได้ 11 เดือน (ต.ค. 2566 – ส.ค. 2567) จำนวน 482,026 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.7% สำหรับผลการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายจับได้ 31,067 คดี สูงขึ้นกว่าปีก่อน 27.4% ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วโลก กรมสรรพสามิตตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เดินหน้าในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 ที่มีผู้เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 และมาตรการ EV 3.5 รวม 32 ราย ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 สูงกว่าปีก่อนถึง 685% และทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยกว่า 80,000 ล้านบาท มาตรการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงเป็นการสร้างองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ มาตรการภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ ที่สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เสียภาษีในส่วนนี้ สามารถนำไปเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ได้ ซึ่งในระยะแรกจะมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน โดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน ด้านสังคม มาตรการการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต ไวน์ สุราแช่ และสถานบริการ โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากเดิม 10% เป็น 0% และการปรับลดภาษีสถานบันเทิง จาก 10% เป็น 5% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ นอกจากการปรับลดอัตราภาษีแล้ว กรมได้ดำเนินโครงการ 1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน เพื่อเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน โดยโครงการนี้ถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ระดับชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน แหล่งความรู้ ด้านการตลาด พลังงานสิ่งแวดล้อม คุณภาพสินค้า และการผลิต รวมถึงส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้าน ESG เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดการใช้พลังงานเพื่อต้นทุนลดลง สำหรับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิตต่างก็มีการเติบโตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีสินค้าสุราแช่ชุมชนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 39 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 16.6% นอกจากนี้ กรมได้ออกมาตรการลดภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อลดค่าครองชีพและต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต 11 เดือน (ตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2567) จัดเก็บได้จำนวน 482,026 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.7% และสูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง 1.06% ซึ่งเป็นเป้าที่ได้มีการปรับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ มาตรการการลดภาษีน้ำมัน ภาษีรถ EV เป็นต้น ในด้านการปราบปราม กรมสรรพสามิตยกระดับการปฏิบัติงานเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ กองทัพบก ศูนย์รักษาความปลอดภัยของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง กรมการปกครอง ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น ส่งผลให้ผลการปราบปรามสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 27.4% นอกจากนี้ ในด้านธรรมาภิบาล กรมยังได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายผ่านการตรวจวิเคราะห์จากสรรพสามิตหรือไม่ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากการสแกนแสตมป์บนผลิตภัณฑ์บุหรี่และสุรา ทั้งนี้นอกจากเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริตแล้ว ยังเป็นการดูแลความปลอดภัยในด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนอีกด้วย ดร. เอกนิติ เปิดเผยว่า กรมยกระดับการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยการรับฟังผู้ประกอบการ นำองค์ความรู้ทักษะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Agile, Design Thinking, Digital Transformation มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมบุคลากรให้มีความคล่องตัวในการทำงาน พร้อมทั้งส่งเสริมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ล่าสุดกรมได้พัฒนาเว็บไซต์ใหม่โดยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรภายในของกรม เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานในทุกมิติ พร้อมทั้งเปิดตัวแชตบอต “น้องสมิตต์ (Smitt) ” ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Generative AI เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ข้อมูลภาษีสรรพสามิตเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชน จากการยกระดับการดำเนินงานและการให้บริการด้วยการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆรวมถึงการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมได้รับรางวัลสำคัญมากมายทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ รางวัล ASOCIO Awards 2022 รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 17 รางวัล ดร. เอกนิติ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 ตามที่ประเทศไทยได้มีการตกลงไว้นั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ วันนี้กรมสรรพสามิต กรม ESG จะเป็นหน่วยราชการแรกที่ขอปักหมุดและขับเคลื่อนทั้งองค์กรให้เดินหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย 15 ปี ซึ่ง กรมต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50 % ในปี 2030 ตามแผนดังนี้ • ภาคการใช้น้ำมัน เปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปใช้รถ EV เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 19.5% • ภาคสารทำความเย็น เปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นชนิด R32 เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 12.20% • ภาคการใช้พลังงานไฟฟ้า o เปลี่ยนเป็นใช้พลังงานทดแทน หรือ Solar Roof เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 62.40% o เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จากการใช้ หลอดไฟอัจฉริยะ หรือระบบควบคุมแสงในอาคารที่ปรับแสงได้อัตโนมัติ เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 1.60% และการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ PC เป็น Laptop เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 3.60% • ภาคของเสีย o จัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 0.40% o เปลี่ยนไปใช้การดำเนินงานที่ไม่มีเอกสาร หรือไม่ใช้กระดาษ เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 0.30% • ภาคการจัดการห่วงโซ่อุปทาน o ส่งเสริมลูกค้าและภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าสู่ Green Supply Chain อาทิ ผู้ประกอบการโครงการสุราชุมชน 1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน ดร. เอกนิติ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือการลงมือทำจริงของกรมสรรพสามิต กรม ESG ที่จะก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
|
Today | 1788 | |
All days | 1788 |
Comments