SCIBเจอพิษ NPL พุ่งเล็งหั่นเป้าสินเชื่อปี53
|
|
|
|
Monday, 28 June 2010 09:14 |
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมปรับเป้าสินเชื่อในปี 2553 โดยเชื่อว่าจะปรับตัวลดลงจากเดิมที่ธนาคารได้วางเป้าหมายสินเชื่อจะขยายตัวได้ 6% หรือ 1.8 หมื่นล้าน เนื่องจากในช่วงที่เกิดเหตุความไม่สงบทางการเมือง ทำให้การปล่อยสินเชื่อเกิดการชะลอตัวไปมากพอสมควร ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำให้ต้องนำข้อมูลดังกล่าวเข้าไปประกอบการพิจารณาในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าคงต้องใช้เวลาการประเมินอีกระยะหนึ่ง เพื่อทบทวนกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารจะต้องมุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้เกิดผลดีต่อผลการดำเนินงานในช่วงปีนี้
สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกยังคงอยู่ในระดับที่ทรงตัว ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 29% พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 30% และพอร์ตสินเชื่อ Corperateอยู่ที่ 30% ซึ่งพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอียังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนรายย่อยโตทดแทนสินเชื่อCorperate แทน โดยธนาคารจะเน้นธุรกิจรายย่อยให้มากขึ้นซึ่งเชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้ตลาดฯดังกล่าวจะขยายตัวได้ดีขึ้น ด้านสินเชื่อลูกค้า Corperate โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่สร้างผลตอบแทนได้น้อย ธนาคารคงจะไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันธนาคารได้สินเชื่อลูกค้า Corperate ไปแล้วจำนวน 6.8 พันล้านบาท
ส่วนตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในปัจจุบันอยู่ที่ 8% ซึ่งส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สะท้อนว่าตัวเลข NPL เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ธนาคารจะต้องหาแนวทางให้ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงมา แต่เชื่อว่าหากเหตุการณ์ทางการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อว่าช่วงปลายปี 53 สัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีจะดีขึ้น ภายหลังจากได้รับอานิสงส์จากมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยให้คนไทยเที่ยวในประเทศและบริษัทฯทัวร์สามารถนำใบเสร็จค่าที่พักโรงแรม หักภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดถึง 1.5 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังจะไม่ขาย NPL และ NPA เนื่องจากขณะนี้ ธนาคาร ธนชาต มีบริษัทฯที่สามารถบริหารจัดการในส่วนนี้อยู่แล้ว ประกอบกับธนาคารได้ตั้งสำรองไปแล้ว โดยครึ่งปีแรกได้ตั้งสำรองแล้ว 1.8 พันล้านบาท จากเดิมที่ต้องตั้งสำรองเพียง 750 ล้านบาท สาเหตุเพราะปัญหาทางการเมืองได้กระทบต่อผลการดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ การตั้งสำรองดังกล่าวหาก ธนาคาร ธนชาตเข้ามาควบรวมก็มีแต่ได้ไม่เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะตั้งสำรองเดือนละ 125 ล้านบาท
|
Comments