เปิด โลกธุรกิจ SME กับ ปกรณ์:การบริหารบุคลากร...เตรียม พร้อมรับเศรษฐกิจขาขึ้น |
Thursday, 06 May 2010 09:07 | ||||
การบริหารบุคลากร...เตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจขาขึ้น
โดย ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ธุรกิจขนาดใหญ่หลายกิจการในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นจากกิจการขนาดเล็กที่เป็นธุรกิจในครอบครัว หรือเป็นธุรกิจที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คน ปัญหาสำคัญที่หลายกิจการประสบคือขาดการวางระบบการบริหารบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริหารให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดเป็นหลักแต่ละเลยเรื่องการบริหารบุคลากร ทั้งๆ ที่การบริหารบุคลากรเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวเช่นนี้ หากองค์กรมีบุคลากรที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เสริมสร้างไอเดียในการผลิตสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ วันนี้ผมจึงขอแนะนำแนวทางการบริหารบุคลากร 9 ประการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับองค์กร ได้แก่
1. การพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development) องค์กรต้องการบุคลากรที่คิดเป็น ทำเป็นโดยไม่ต้องรอคำสั่ง Peter Cappelli ศาสตราจารย์สาขาการบริหารจัดการของวิทยาลัยวาร์ตัน (The Wharton School) กล่าวว่า นโยบายเรื่องการบริหารธุรกิจที่สำคัญลำดับแรกที่ผู้บริหารก็คือการพัฒนาภาวะผู้นำ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาวะผู้นำของพนักงานทุกระดับอย่างจริงจัง จะส่งผลให้พนักงานทุกระดับมีความพร้อมสูง และมีขวัญกำลังใจดีไม่ลาออกจากบริษัทง่ายๆ 2. การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work–life Balance) ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของบุคลากรได้อย่างแท้จริง จนกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้พนักงานรุ่น Gen X และ Gen Y ลาออกจากงานเพราะทนความเครียดไม่ได้ และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอดทนอย่างพนักงานรุ่น Baby Boomers ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาอัตราการเข้า-ออกงาน (Turnover Rate) ของพนักงานรุ่นใหม่ ที่จะทยอยเข้ามาทำงานให้องค์กรแทนพนักงานรุ่นเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ 3. การมีส่วนร่วม และบริหารพนักงานที่มีพื้นฐานหลากหลาย (Inclusion and Diversity) ในช่วงเวลา 15 ปีนับจากนี้ไป เป็นช่วงเวลาที่จะได้เห็นองค์กรที่มีพนักงาน 3 วัย ทำงานร่วมกัน คือ กลุ่มพนักงานยุค Baby Boomers กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Gen Y ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริหารจึงต้องคำนึงถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในองค์กร การปรับค่านิยมและวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานต่างวัยสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากความแตกต่างในเรื่องอายุแล้ว เรื่องของเพศ ศาสนา เชื้อชาติ สิทธิของผู้พิการที่ต้องการทำงานในตำแหน่งที่ทัดเทียมกับผู้ที่มีสภาพร่างกายปกติก็เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง เพราะสังคมโลกเสรีจะเปิดออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ องค์กรจึงต้องเตรียมนโยบายในการบริหารความหลากหลายของพนักงาน ให้ถูกต้องเหมาะสมกับกฎหมายแรงงานและประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน 4. จ้างคนที่มีความสามารถเหมาะสมกับงาน (Right Skilling) ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรจ้างบุคลากรที่มีความสามารถต่ำกว่างาน (Underskilled) มาทำงาน โดยคิดว่าถ้าฝึกอบรมแล้วคงจะเก่งขึ้น เพราะบางครั้งการฝึกอบรมไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก ขณะเดียวกันก็ไม่ควรจ้างบุคลากรที่มีความสามารถสูงเกินงาน (Overskilled) เพราะจะทำให้เกิดปัญหาหลัก 2 ประการ ประการแรก เป็นการเพิ่มต้นทุนในการจ้างงาน เพราะต้องจ่ายค่าจ้างตามวุฒิ และถึงแม้ไม่ต้องจ่ายตามวุฒิ เนื่องจากพนักงานอยากได้งานจริงๆ จนยอมรับเงินเดือนที่ต่ำกว่าวุฒิก็อาจนำไปสู่ปัญหาประการที่สอง คือ พนักงานมักไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และพยายามหางานใหม่ที่ดีกว่าเสมอ ทำให้อัตราการเข้า-ออกจากงานสูงตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารจึงควรใคร่ครวญให้ดีก่อนว่าพนักงานมีคุณสมบัติ ค่านิยม และแรงจูงใจเหมาะสมกับงานจริงๆ หรือไม่ 5. บริหารจัดการแรงงานให้ถูกกลุ่ม (Managing Solid Citizens) หากแบ่งพนักงานทั้งหมดเป็น 100 ส่วน หรือ 100% ประมาณ 10 - 20% จะอยู่ในกลุ่มเกรด A หรือกลุ่ม Star Performers อีกประมาณ 10 - 20% จะเป็นกลุ่มผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกลุ่ม C–performers และอีกประมาณ 50 - 60% ของพนักงานในองค์กรจะเป็นกลุ่ม B–performers หรือ Solid Citizens ซึ่งถือเป็นพนักงานส่วนใหญ่ขององค์กร กลุ่ม Star Performers นั้นเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการออกจากงานเพราะถูกซื้อตัวได้มาก ขณะที่กลุ่มที่ผลงานต่ำกว่ามาตรฐานก็เป็นพวกที่อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน องค์กรทั้งหลายจึงควรหันมาเพิ่มความสนใจให้กับพนักงานในกลุ่มที่เก่งกลางๆ แทนที่จะมุ่งเน้นให้ความสนใจและพัฒนาแต่เฉพาะพวก A–performers แล้วปล่อยปละละเลยกลุ่ม Solid Citizens ทำให้พวกเขาเสียกำลังใจในการทำงานได้ง่าย เพราะแม้เขาจะไม่ได้เก่งกล้าแบบมหัศจรรย์ แต่ถ้าพัฒนาเขาดีๆ ก็สามารถสร้างผลงานที่มีมาตรฐานได้ดีถึงดีเยี่ยม และที่สำคัญคือ คนพวกนี้จะไม่อวดเก่งและลาออกจากงานบ่อยเหมือนพวก Star Performers องค์กรจึงสามารถได้ผลงานที่ต่อเนื่องจากพวกเขามากกว่า 6. ให้รางวัลทันที...ไม่รอช้า (Instant Rewards) ยุคนี้ หากนายจ้างประหยัดคำชมหรือรางวัลมากเกินไป ลูกน้องอาจจะสูญเสียกำลังใจ และอาจย้ายงานไปที่อื่นก็ได้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานมีฝีมือในภาคการผลิตที่ยังเป็นกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนสำหรับประเทศไทย ซึ่งคำว่ารางวัลในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแต่เงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคำชมเชย การ์ดขอบคุณ ดอกไม้ ขนม ฯลฯ ที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าผู้บริหารเห็นคุณค่าของผลงานและความดีของเขา หากผู้บริหารเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานจะทำให้พนักงานรู้สึกดีต่อการทำงานและทุ่มเทกับงานมากขึ้น 7. วัดผลงานบุคลากรรายตัว (Measuring human capital) การควบคุมต้นทุนเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ การสร้างมาตรฐานการวัดผลงานของบุคลากรให้เชื่อมโยงกับต้นทุนและทรัพยากรที่ใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้องค์กรควบคุมต้นทุนได้ และยังสามารถแก้ไข รวมถึงประเมินผลงานของพนักงานแต่ละคนได้อีกด้วย ซึ่งการสร้างมาตรฐานการวัดผลงานควรปรึกษากับฝ่ายการเงินและฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถจัดสร้างมาตรฐานและตัววัดผลงานที่สอดคล้อง เหมาะสมกับรูปแบบขององค์กร 8. สร้างและบริหารแรงบันดาลใจ (Managing aspiration) ผู้บริหารทุกระดับควรมีส่วนร่วมใจร่วมพลังสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้พนักงาน โดยพยายามสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เป็นกันเอง สนุกสนาน รวมทั้งการให้ความใส่ใจ มีน้ำใจกับพนักงาน จะทำให้พวกเขามีกำลังใจ การพูดคุยกับพนักงานบ่อยๆ จะทำให้บรรยากาศในการสื่อสารดีขึ้น กลายเป็นระบบการสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two–way communication) อย่างแท้จริง พนักงานมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรในทุกทาง 9. สร้างระบบให้ข้อมูลย้อนกลับแบบ 360 องศา (360 Feedback) หลังจากการนำแนวคิดทั้ง 8 ประการข้างต้นมาปรับใช้แล้ว สิ่งสำคัญประการสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ การประเมินและให้ข้อมูลการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาแก่พนักงาน ซึ่งการที่จะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์รอบด้านจำเป็นต้องให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ตัวพนักงานเอง และลูกค้า มีส่วนในการให้ความเห็นและให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เมื่อพนักงานมีข้อมูลจากทุกมิติก็จะพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล และรวดเร็ว
|
Today | 892 | |
All days | 892 |
Comments