Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View มาตรการวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร...กอบกู้ความเชื่อมั่นเฉพาะหน้าแต่ปัญหาความอ่อนแอทางการคลัง ต้องใช้เวลาเยียวยา BY ศูนย์วิจัยเคแบงก์
มาตรการวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร...กอบกู้ความเชื่อมั่นเฉพาะหน้าแต่ปัญหาความอ่อนแอทางการคลัง ต้องใช้เวลาเยียวยา BY ศูนย์วิจัยเคแบงก์ PDF Print E-mail
Monday, 10 May 2010 17:26

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ข่าวดี 2 ข่าว เกี่ยวกับความชัดเจนของแผนช่วยเหลือกรีซ 1.1 แสนล้านยูโร และการจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปอีก 5.0 แสนล้านยูโร ได้หนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน พลิกฟื้นค่าเงินยูโรขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และหนุนแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นกลับคืนมา ทั้งนี้ เป็นที่คาดหวังว่า ความพยายามในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซน มาตรการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป และมาตรการเพิ่มเติมทั้งในด้านการดูแลสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ และการเข้าซื้อตราสารหนี้ของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) จะช่วยสกัดการลุกลามของวิกฤตหนี้จากกรีซไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปตลอดจนมาตรการด้านสภาพคล่องอื่นๆ จาก ECB อาจเพียงพอที่จะช่วยสกัดการกระจายตัวของภาวะวิกฤตได้ในเวลานี้ แต่รายละเอียดของเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการเข้าสกัดการลุกลามของวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ปัญหาทางด้านการคลังของหลายๆ ประเทศในแถบยูโรโซนที่มีแนวโน้มเรื้อรังต่อไปในช่วงหลายปีข้างหน้านั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ ความกังวลเกี่ยวกับการขยายวงของวิกฤตไปยังภาคการธนาคารในยุโรปอาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงยาวนาน ซึ่งความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้พอสรุปได้ดังนี้

มาตรการความหวัง 7.5 แสนล้านยูโร...ความหวังสกัดการลุกลามของวิกฤตหนี้กรีซ  
การจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรป 5.0 แสนล้านยูโร ช่วงเช้าวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ประกาศแผนการล่าสุดเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินในยุโรปหลังจากที่ความเสี่ยงต่อการลุกลามของวิกฤตกรีซไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของแถลงการณ์อยู่ที่การจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรป (European Stabilisation Mechanism) มูลค่า 5.0 แสนล้านยูโร (6.7 แสนล้านดอลลาร์ฯ) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย วงเงิน 6.0 หมื่นล้านยูโรเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงิน1 และวงเงินปล่อยกู้และค้ำประกันหนี้มูลค่า 4.4 แสนล้านยูโร ซึ่งจะดำเนินการผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ระยะ 3 ปี

ทั้งนี้ การขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกลไกการสนับสนุนทางการเงินแห่งยุโรปนี้ จะต้องแลกมาด้วยการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดในแบบฉบับของเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

IMF จัดสรรวงเงินสมทบ...อาจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านยูโร ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปได้ระบุถึง การจัดสรรวงเงินสมทบแผนช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินนี้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นที่คาดว่า จะมีมูลค่าไม่น้อยไปกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินในส่วนของสหภาพยุโรป หรือประมาณ 2.5 แสนล้านยูโร  

ECB ประกาศแผนช่วยเหลือควบคู่...ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการเพิ่มเติมเข้าแทรกแซงตลาดตราสารหนี้ (Securities Market Programme) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชน เพื่อช่วยหนุนสภาพคล่องและพลิกฟื้นกลไกตลาดให้กับมาทำงานให้เป็นปกติมากขึ้น2 ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ECB และธนาคารกลางของประเทศสมาชิกยูโรโซนแต่ละประเทศ ไม่สามารถปล่อยกู้โดยตรงให้แก่รัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งได้ แต่กระนั้นก็ดี ECB อาจใช้วิธีการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อจากธนาคารพาณิชย์อีกต่อหนึ่งแทน อย่างไรก็ดี ขอบเขตการเข้าแทรกแซง วงเงิน และรายละเอียดของการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนภายใต้มาตรการในส่วนนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาในขณะนี้  

พร้อมกันนี้ ECB ยังประกาศเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้นในการปล่อยสภาพคล่องระยะ 3 เดือน และ 6 เดือนผ่านช่องทาง Long-Term Refinancing Operations ของ ECB ทั้งนี้ มาตรการในส่วนนี้จะช่วยให้ ECB สามารถส่งผ่านนโยบายการเงินด้วยกลไกที่มีความเหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ ECB ยังร่วมกับธนาคารกลางประเทศชั้นนำอื่นๆ (อาทิ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์) ในการเปิดวงเงินสว็อป (SWAP LINES) ครั้งใหม่กับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ ในตลาด ที่อาจตึงตัวขึ้นอันเนื่องมาจากชนวนวิกฤตหนี้ของกรีซได้กระตุ้นความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั่วโลก

มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย...พื้นฐานทางการคลังที่อ่อนแอยังคงรอการแก้ไข
คงต้องยอมรับว่า วงเงินของกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปซึ่งสูงถึง  5.0 แสนล้านยูโร เมื่อรวมเข้ากับวงเงินจัดสรรสมทบจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีก 2.50 แสนล้านยูโรนั้น คงเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่วิกฤตการคลังของกรีซจะลุกลามไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และสเปน ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายรายได้ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า มูลค่าความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีเลวร้ายที่วิกฤตของกรีซได้ลุกลามออกไปจนทำให้ทั้ง 3 ประเทศ ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินระยะ 3 ปีแบบกรีซนั้น อาจสูงถึง 5.0 แสนล้านยูโร

กระแสการตอบรับจากตลาดการเงินต่อการจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปด้วยวงเงินที่ค่อนข้างสูงดังกล่าว ค่อนข้างออกมาในเชิงบวก ซึ่งสะท้อนได้จากการฟื้นตัวขึ้นของค่าเงินยูโรมาอยู่เหนือระดับ 1.3000 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร (เทียบกับระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนที่ 1.2520 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรที่ทำไว้เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ในช่วงก่อนการจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรป) ขณะที่ ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ดีดตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากที่ร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ ข่าวการจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรป (พร้อมกับวงเงินจัดสรรสมทบจาก IMF) เข้ามาช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้สาธารณะจากกรีซไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ พร้อมๆ กันกับข่าวดีเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือทางด้านการเงินระยะ 3 ปีมูลค่า 1.1 แสนล้านยูโรของกรีซ ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่า จะมาช่วยกรีซทันเวลารับมือกับหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคมนี้

กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการเงินอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อประเมินสถานการณ์และแนวโน้มโดยรวมใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวโน้มการรัดเข็มขัดทางด้านการคลังที่ค่อนข้างเข้มงวด ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาการขาดดุลการคลังในระดับสูง ประกอบด้วย กรีซ (ขาดดุลการคลัง 13.6% ของจีดีพี ในปี 2552) โปรตุเกส (ขาดดุลการคลัง 9.4% ของจีดีพี ในปี 2552) ไอร์แลนด์ (ขาดดุลการคลัง 14.3% ของจีดีพี ในปี 2552) และสเปน (ขาดดุลการคลัง 11.2% ของจีดีพี ในปี 2552) หดตัวลงในปีนี้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า และ/หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนว
โน้มชะลอตัว/ถดถอยมากกว่าที่คาด อาจส่งผลต่อเนื่องย้อนกลับมากดดันฐานะการคลังของประเทศให้ย่ำแย่ลงไปอีก โดยในกรณีที่เศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้นทางด้านการคลัง (ในขณะที่ แรงกระตุ้นจากเครื่องมืออัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เองเพราะต้องขึ้นอยู่กับกลไกของยูโรโซนโดยรวมที่ดูแลโดยธนาคารกลางยุโรป) และ/หรือรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนที่ประสบปัญหาทางด้านการคลังไม่สามารถดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดได้ตามแผนที่วางไว้ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนในประเทศดังเช่นกรณีของกรีซ
แล้ว สถานการณ์ทางการคลังของประเทศนั้นๆ ก็น่าจะยังคงย่ำแย่ต่อเนื่อง และการขาดดุลการคลังเรื้อรังเกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 3.0% ของจีดีพี ก็จะยังคงดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ ความน่ากลัวของวิกฤตทางด้านการคลังของบางประเทศในแถบยูโรโซนในรอบนี้ ยังอยู่ที่ว่า หากเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาทางด้านการคลังชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดแล้ว ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์และความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศเหล่านั้นคงเกิดขึ้นตามมาโดยยากที่จะหลีกเลี่ยง และโจทย์จะยิ่งซับซ้อนและรับมือยากมากขึ้นเมื่อระลอกของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศยังไม่สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เนื่องจากระดับความเสี่ยง/อันดับเครดิตของประเทศสมาชิกยูโรโซนที่แตกต่างกัน อาจทำให้ผู้ฝากเงินโยกย้ายเงินฝากสกุลเงินยูโรจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างตื่นตระหนก วิกฤตภาคการธนาคารในยุโรป ก็อาจปะทุขึ้นตามมาเป็นระลอกสองต่อจากวิกฤตหนี้สาธารณะ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปมูลค่า 5.0 แสนล้านยูโร การจัดสรรวงเงินสมทบ 2.5 แสนล้านยูโรจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และความชัดเจนของแผนการสนับสนุนทางการเงิน 1.1 แสนล้านยูโรแก่กรีซ จะสามารถพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และช่วยหนุนค่าเงินยูโร และสินทรัพย์เสี่ยงให้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่เผชิญแรงเทขายอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้ แต่การกอบกู้วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศสมาชิกยูโรโซนในรอบนี้ (ซึ่งหากนับรวมแผนช่วยเหลือกรีซ) ก็ใช้วงเงินที่ค่อนข้างสูงถึงกว่า 1.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งก็สูงกว่าแผนกอบกู้สถาบันการเงินวงเงิน 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ (TARP) ของสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ คงต้องติดตามเงื่อนไขของการใช้วงเงินภายใต้กลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของการเข้าสกัดการลุกลามของวิกฤตการคลังในยูโรโซนอย่างแท้จริง

กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลไกการสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรป และมาตรการเพิ่มเติมในการเข้าแทรกแซงตลาดตราสารหนี้และมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป อาจจะยังคงไม่สามารถพลิกฟื้นความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังในบางประเทศที่เป็นสมาชิกยูโรโซน ซึ่งก็จะทำให้ปัญหาการคลังยังคงเป็นโจทย์ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา และความซับซ้อนของวิกฤตอาจเพิ่มมากขึ้น หากความไม่เชื่อมั่นลุกลามไปยังภาคการธนาคารในยุโรป ซึ่งทั้งประเทศที่เป็นลูกหนี้และประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ก็อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นเดียวกัน ดังนั้น อาจเป็นการเร็วที่จะสรุปว่า ความเสี่ยงต่อการปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าของเงินยูโรได้สิ้นสุดลงแล้วในขณะนี้ เนื่องจากความย่ำแย่ของปัญหาพื้นฐานทางด้านการคลังของบางประเทศในแถบยูโรโซน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ณ เวลานี้

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



Written by :
พิราบขาว
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday1431
mod_vvisit_counterAll days1431

We have: 1428 guests online
Your IP: 3.142.172.179
Mozilla 5.0, 
Today: Feb 06, 2025

4182128