สินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1: ขยายตัว...ผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ by ศูนย์วิจัยเคแบงก์
|
|
|
|
Wednesday, 12 May 2010 15:51 |
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน เรื่อง สินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1: ขยายตัว...ผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยระบุว่า ภาพรวมของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 ปี 2553 ที่ผ่านมา ขยายตัวสูงเป็นตัวเลข 2 หลักเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลมีมติไม่ต่ออายุมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่สิ้นสุดในวันที่28 มีนาคม 2553 ทำให้ในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายก่อนที่มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์หมดลง ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้เร่งตัดสินใจซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยให้ทันก่อนที่มาตรการจะสิ้นสุด และทำให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต่างเร่งขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินสูงกว่าเฉลี่ยในแต่ละเดือนถึง 3 เท่าตัว เพราะถ้ามาตรการสิ้นสุดลง ผู้ซื้อต้องชำระค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้นทวีคูณ
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจำนวนมากต่างเร่งโอนกรรมสิทธิ์และเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้มีปัญหาการดำเนินการแล้วเสร็จไม่ทันทั้งการทำนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์โดยกรมที่ดิน และการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เฉพาะในส่วนของการซื้อที่อยู่อาศัย คือ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก 2 เดือน ทำให้คาดว่า แนวโน้มยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยใน ไตรมาส 2 น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 ปี 2553 และวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2 และช่วงที่เหลือของปี 2553 ดังนี้
ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 1 ปี 2553: ขยายตัว … ผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาพรวมของยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยทั้งระบบในไตรมาส 1 ปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 1,800,195 ล้านบาท ขยายตัวร้อย 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในปี 2552 โดยมูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยทั้งระบบเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2552 ประมาณ 62,552 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการเพิ่มขึ้นระหว่างไตรมาสที่สูง สำหรับการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากผู้บริโภคเร่งตัดสินใจซื้อ และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553 เมื่อพิจารณาการ เติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย พบว่า
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวสูงขึ้น ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 1,007,735 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 ในปี 2552 และมูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2552 ประมาณ 51,023 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าของยอดคงค้างสินเชื่อระหว่างไตรมาสเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยในช่วงไตรมาสแรก ธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งโหมแคมเปญการ ตลาดกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยกันอย่างคึกคัก เพื่อเร่งให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อของตน และเพื่อให้ทันก่อนที่มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลง โดยธนาคารพาณิชย์ยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการเดินหน้าทำตลาด เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0 ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น รวมถึงการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในไตรมาส 1 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น..แต่ยังคงต่ำกว่าทั้งระบบ ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในไตรมาส 1 ปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 791,879 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ในปี 2552 และมูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2552 ประมาณ 11,546 ล้านบาทโดยการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเร่งทำแคมเปญการ ตลาดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ต่ำกว่าระบบอยู่มากนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากลูกค้าที่มีความแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระดับปานกลางลงมา และมีมูลค่าการขอสินเชื่อที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 2 … ท่ามกลางภาวะการเมืองที่ร้อนแรง สำหรับแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสนี้จะยังคงสามารถรักษาการเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว ที่สำคัญ คือ การขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 นอกจากนี้ยังมาจากการที่สถาบันการเงินได้มีการระดมแคมเปญการตลาดอย่างหนัก อาทิ อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียม หรือการแจกของสมนาคุณ ในช่วงงาน Money Expo ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงไปได้ดี แม้ว่าผลิตภัณฑ์สินเชื่อบางประเภทอาจจะ ถูกกระทบจากเหตุการณ์การเมือง นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จที่จะทยอยเข้ามาสู่ตลาด อาจมีผลต่อสินเชื่อที่อยู่ใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน
คาดว่า ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2 ปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,839,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นจากในไตรมาสแรก แต่ในด้านของมูลค่าสินเชื่อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากในไตรมาสแรก โดยคาดว่ามูลค่ายอดคงค้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 39,000 ล้านบาท จากไตรมาสแรก เนื่องจากผลของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่31 พฤษภาคม 2553 อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2 นี้ ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการ เมืองที่มีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงมีความลังเลในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 2 จะได้รับปัจจัยหนุนต่างๆ ดังกล่าวแล้ว แต่สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2553 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถาบันการเงินอาจจะเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเมื่อความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยน่าจะถูกดูดซับไปเป็นจำนวนมากในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 นี้ อาจต้องประสบกับภาวะยอดขายที่ชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแรงจูงใจที่จะต้องเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเหมือนอย่างครึ่งปีแรก นอกจากนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องมาจากปัญหาวิกฤตหนี้ในประเทศกรีซ ที่อาจลุกลามและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งปัจจัยด้านการเมืองที่หากยังคงยืดเยื้อ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ดังจะเห็นได้ว่าความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามลำดับ
ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจึงเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับสถาบันการเงินว่าจะนำเอากลยุทธ์อะไรออกมาใช้เพื่อกระตุ้นตลาดที่แรงซื้อที่อยู่อาศัยอาจเบาบางลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า กลยุทธ์ในการทำตลาดสถาบันการเงินคงจะเน้นในเรื่องราคา แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สถาบันการเงินยังคงต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการรุกตลาดท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยสถาบันการเงินต่างออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าในการตัดสินใจ รวมถึงการร่วมมือกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้แก่ลูกค้าของโครงการ นอกจากนี้สถาบันการเงินมีการเสนอทางเลือกอื่นๆ ในการดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการสินเชื่อของตน เช่น การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มข้นในการแข่งขัน และการเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ ควบคู่กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย นอกจากการแย่งชิงฐานลูกค้าใหม่แล้วสถาบันการเงินบางแห่งคงจะหันมาให้ความสำคัญกับการย้ายวงเงิน หรือ Refinance สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสถาบันการเงินคู่แข่ง
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
|
Comments