มาตรการ 7.5 แสนล้านยู โร จบภาคแรกแต่ยังมีภาคต่อ By SCB Economic Intelligence Center (EIC)
|
|
|
|
Thursday, 13 May 2010 07:28 |
สหภาพ ยุโรปได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินอีก 7.5 แสนล้านยูโร (หรือ 1 ล้านล้านดอลลาร์) เพื่อพยายามสกัดวิกฤติหนี้กรีซไม่ให้ลุกลามออกไป นอกจากนี้ ที่สำคัญคือธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เริ่มเข้าซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนจากตลาดการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของตราสารหนี้ของประเทศสมาชิกที่กำลังประสบ ปัญหา
***มาตรการ 7.5 แสนล้านยูโร แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 6 หมื่นล้านยูโร เป็นมาตรการเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วโดย European Commission จะเป็นผู้ออกตราสารหนี้ (ค้ำประกันโดยสมาชิก 27 ประเทศ) มาให้ประเทศที่มีปัญหาทางการเงินกู้ต่อในอัตรา ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการที่จะให้ประเทศดังกล่าวไปกู้เอง ส่วนที่สอง 4.4 แสนล้านยูโร เป็นส่วนเพิ่มเติมจากส่วนแรก โดยจะมาจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (special purpose vehicle) ที่จะมีอายุ 3 ปี และค้ำประกันโดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนที่สาม 2.5 แสนล้านยูโร จะมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งนับเป็นการให้ความช่วยเหลือที่มีขนาดใหญ่ มากของ IMF เมื่อเทียบกับยอดความช่วยเหลือของ IMF รวมทั่วโลกเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่เพียง 1.9 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้น ***7.5 แสนล้านยูโรเพียงพอสำหรับการ แก้ปัญหาสภาพคล่อง มีการประมาณว่าหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในช่วง 3 ปีข้างหน้าของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มี เศรษฐกิจขนาดเล็ก อย่างโปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน (PIGS) น่าจะอยู่ที่ราวๆ 5 แสนล้านยูโร ดังนั้นยอดรวมมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะทำให้พออุ่นใจได้ว่า ประเทศดังกล่าวจะหายืมเงินจากมาตรการนี้มาใช้คืนแก่เจ้าหนี้ปัจจุบันได้ ***แต่ไม่แก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวให้หมดไป เพราะการกู้เงินจากกองทุนให้ความช่วยเหลือดัง กล่าวเพื่อมาใช้หนี้นั้น ไม่ได้เป็นการปลดหนี้ให้หมดไป เปรียบเหมือนกับบริษัทที่มีหนี้สินมากจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ การยืมเงินมาชำระหนี้แบบนี้จึงเป็นเหมือนการซื้อเวลาให้ไม่ต้องผิด นัดชำระหนี้ (default) ไประยะหนึ่งเท่านั้น แต่ตัวหนี้สินทั้งหมดยังคงอยู่อย่างครบถ้วน มาตรการนี้จึงเหมือนเป็นการช่วยเหลือภาคการธนาคารในยุโรป เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลของกลุ่มประเทศ PIGS ผิดนัดชำระหนี้ตอนนี้ จะเกิดผลเสียหายต่อเจ้าหนี้ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือธนาคารในกลุ่มประเทศยุโรปนั่น เอง ตัวอย่างเช่นจากยอดหนี้กรีซ 2.2 แสนล้านยูโร มาจากธนาคารในยุโรปถึง 1.9 แสนล้านยูโร ซึ่งในที่นี้เป็นธนาคารในเยอรมนีถึง 7.9 หมื่นล้านยูโรและฝรั่งเศสอีกราว 4.5 หมื่นล้านยูโร ดังนั้น มาตรการดังกล่าวจึงเป็นเพียงจุดจบของปัญหาในภาคแรกเท่านั้นและยังมีภาคต่อ ให้ต้องติดตามต่อไป ***นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการนำไปปฏิบัติอย่างน้อยอีก 2 เรื่อง (1) มาตรการดังกล่าวโดยเฉพาะส่วน 4.4 แสนล้านยูโร ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาในหลายประเทศสมาชิก เนื่องจากการลงขันจัดตั้งกองทุนหรือการค้ำประกันหนี้ของกองทุนย่อม หมายถึงภาระหนี้สินสำหรับรัฐบาลประเทศที่เข้าไปค้ำประกัน การขออนุมัติจากรัฐสภาในประเทศต่างๆ จึงไม่น่าจะเร็วนัก เลยทำให้ ECB ต้องออกมาให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นด้วยการ รับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนดังกล่าว (2) มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะทำตามแผนที่วางเอาไว้ ไม่ได้ มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นแบบชั่วคราวและมีสมมติฐานว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผู้รับความช่วยเหลือต้องสามารถเข้าไปกู้ในตลาดได้โดยตรงด้วยตัวเอง ซึ่งแปลว่าประเทศเหล่านี้ต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถลดการขาดดุลการคลัง ลงได้ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้ เช่น กรีซต้องลดการขาดดุลการคลังลงรวมกันถึง 11% ของ GDP ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า แต่ว่าการรัดเข็มขัดก็อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวแรงกว่าที่คิด หากเทียบกับครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง IMF เคยประมาณไว้ว่าเมื่อรัดเข็มขัดแล้วเศรษฐกิจไทย จะติดลบราว 3% แต่เอาเข้าจริง GDP ติดลบไปกว่า 10% ดังนั้น GDP กรีซที่คาดว่าจะหดตัว 4% ในปีนี้ และอีก 2.6% ในปีหน้าจึงมีโอกาสที่จะออกมาแย่กว่าที่ประมาณ การไว้ ซึ่งจะทำให้รายได้ภาษีของรัฐไม่เป็นไปตามเป้า ส่งผลเสียต่อความพยายามในการลดการขาดดุลการคลัง ***ในที่สุดคงต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากขนาดของหนี้สินที่สูงมาก ประกอบกับความเสี่ยงในการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้รวมถึงการหดตัวของ GDP ดังกล่าว ทำให้การลดหนี้สินที่ล้นพ้นตัวอาจต้องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
เรื่องยังไม่จบ ตลาดการเงินยังคงมีความผันผวน มีโอกาสที่จะมีข่าวร้ายออกมาอีก เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ และการไม่สามารถปฏิบัติตามแผนลดการขาดดุลการคลังที่วางไว้ได้ เห็นได้จากการที่ credit default swap (CDS) spread ซึ่งบ่งบอกถึงมุมมองของตลาดต่อความเสี่ยงของตราสารหนี้ประเทศ ต่างๆ (ยิ่งสูงแปลว่ายิ่งมองว่าเสี่ยง) ซึ่ง CDS กรีซแม้จะลดลงมาจากจุดสูงสุดที่กว่า 900 basis points (bps) เหลือราว 600 bps แต่ก็ยังนับว่าสูงอยู่มากเมื่อเทียบกับราว 300 bps เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผลกระทบจากกรณีดังกล่าวยังทำให้ ความต้องการของนักลงทุนที่จะรับความเสี่ยง (risk appetite) ลดลงด้วย โดยมีการลดการลงทุนในสินทรัพย์ยูโร และรวมถึง commodities อย่างน้ำมัน ไปลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนราคาน้ำมันก็ลดลงแต่ผลกระทบต่อไทยน่าจะไม่มาก...
1) ผลกระทบจากตลาดการเงิน ไทยมีหนี้สินต่างประเทศไม่มาก คือราว 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (เทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์) และตลาดเองก็สามารถแยกแยะได้ ทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศของไทยก็ไม่เพิ่มขึ้นเท่าไร โดย CDS ของไทยเพิ่มจากราว 100 basis points (bps) ในเดือน มี.ค. มาเป็น 115 bps เท่านั้น
2) ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก ของไทย แม้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปคิด เป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่การส่งออกไปยังกรีซ โปรตุเกส สเปน และไอร์แลนด์มีมูลค่ารวมกันเพียง 1% ของการส่งออกของไทยเท่านั้น ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยจึงไม่มาก สำหรับสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยัง 4 ประเทศดังกล่าวได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง และรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์
|
Comments