Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Friday, 17 November 2017 09:34

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 205 ให้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้กับวุฒิสภาสหรัฐ เพื่อทำการพิจารณาเป็นลำดับต่อไป สำหรับร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกันมีเนื้อหานี้ ครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ระดับ 35% และการลดจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 7 ขั้น เหลือเพียง 4 ขั้น คือ 12%, 25%, 35% และ 39.6% ทั้งนี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับดังกล่าวจะถูกส่งให้กับวุฒิสภาสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้เปิดเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภาเองเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายมีความแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร จึงส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนว่า วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะสามารถประสานความแตกต่างในเนื้อหาเหล่านี้ ให้ลงตัวได้หรือไม่

ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ในสัปดาห์สิ้นสุดในวันที่ 11 พฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 249,000 ราย ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 6 สัปดาห์ และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 4,000 รายสู่ระดับ 235,000 ราย อย่างไรก็ดี ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 140 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513 ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 6,500 ราย สู่ระดับ 237,750 รายในสัปดาห์ที่แล้วสำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ย. มีจำนวนลดลง 44,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 1.860 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2516 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 1.895 ล้านราย

ดัชนีราคานำเข้าในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้น 0.2% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนกันยายน (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกปรับทบทวนขึ้นจาก 0.7% ในรายงานก่อนหน้านี้) โดยรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันนำเข้าปรับตัวขึ้นในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา หากไม่รวมราคาน้ำมัน ราคานำเข้าปรับตัวขึ้น 0.1% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 2.5% ซึ่งชะลอตัวลงหลังจากปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนกันยายน ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า ดัชนีราคาส่งออกทรงตัว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรส่งออกที่พุ่งขึ้นถูกบดบังด้วยราคาสินค้านอกภาคการเกษตรที่ลดลง โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนกันยายน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 2.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนกันยายน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้น 0.9% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมสามารถฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์และเออร์มาไปได้

นายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาบอสตัน ได้กล่าวที่มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นในวันก่อนว่า Fed ควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเชื่อว่าอัตราว่างงานน่าจะปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่า 4% เพราะเมื่ออัตราว่างงานปรับตัวลงแล้วก็จะเป็นปัจจัยกดดันต่อเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์ จนก่อให้เกิดความจำเป็นในการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

 

ยุโรป: ฝรั่งเศส

สำนักงานสถิติฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่า อัตราว่างงานของฝรั่งเศสในไตรมาสสามของปีนี้ อยู่ที่ 9.7% ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 9.5% ในไตรมาสสอง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสสามของปีที่แล้ว อัตราว่างงานของฝรั่งเศสปรับตัวลง 0.3% ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายเอ็มมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เริ่มเดินหน้าแผนการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ภายหลังจากที่อัตราว่างงานของฝรั่งเศสอยู่ที่ระดับสูงถึง 9.5% ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยุโรปถึง 2 เท่า ทั้งนี้ นายมาครองเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะปรับลดอัตราว่างงานลงให้เหลือ 7% ภายในปี 2565 และจะทำให้ตลาดแรงงานนั้นมีพลวัต

 

อังกฤษ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมปรับตัวลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากปัจจัยเรื่องราคาแล้ว ONS ยังระบุด้วยว่า การที่ยอดค้าปลีกเดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงนั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานเปรียบเทียบที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากยอดค้าปลีกในเดือนตุลาคมปีที่แล้วขยายตัวสูง ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมที่ซบเซาอาจมาจากปัจจัยที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อย่างเช่นอากาศที่อบอุ่นกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ยอดขายเสื้อผ้าฤดูหนาวไม่คึกคักเท่าที่ควร และหากเทียบรายเดือน ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก.ย. และยอดค้าปลีกเดือนส.ค.-ต.ค.เพิ่มขึ้น 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร โดยเฉพาะสินค้ามือสอง เช่น สินค้าจากร้านการกุศล บริษัทประมูล ร้านขายของเก่า เป็นต้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ยอดค้าปลีกจะดีดตัวขึ้นในเดือนพ.ย. เนื่องจากร้านค้าหลายแห่งรอให้ผ่านพ้นเทศกาลฮัลโลวีนก่อนจึงจะเริ่มแคมเปญสินค้า

 

เอเชีย :จีน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงว่า การลงทุนทางตรงของจีนในต่างประเทศยกเว้นภาคการเงินอยู่ที่ระดับ 8.631 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนม.ค.-ต.ค.ปีนี้ โดยดิ่งลง 40.9% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่ทางการจีนพยายามปราบปรามการลงทุนในกิจการต่างประเทศแบบเก็งกำไร การลงทุนของจีนในต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 8.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนต.ค. โดยดิ่งลง 29.6% จากปีก่อน หลังจากที่ยอดเงินลงทุนในต่างประเทศเคยดิ่งลง 42.5% ต่อปีในเดือนก.ย. บริษัทจีนปรับลดการลงทุนในต่างประเทศลงอย่างรุนแรง นับตั้งแต่รัฐบาลจีนนำมาตรการควบคุมเงินลงทุนไหลออกมาใช้อย่างเข้มงวด จีนระบุว่า จีนยังคงส่งเสริมการลงทุนแบบจริงจังในต่างประเทศ แต่จีนประกาศว่าจีนจะจำกัดการลงทุนในต่างประเทศในส่วนของอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม, ธุรกิจบันเทิง, สโมสรกีฬา และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถ้าหากรัฐบาลจีนตั้งข้อสงสัยว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการเก็งกำไร และมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบเข้มงวด

 

เกาหลีใต้

นางชู มิ-แอ ประธานกรรมการพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้กล่าวในวันพุธว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐก็ไม่ควรจะที่จะดำเนินมาตรการทางทหารต่อเกาหลีเหนือ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากรัฐบาลเกาหลีใต้ นางชูกล่าวว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์มักจะกล่าวย้ำว่า เขาเปิดโอกาสสำหรับทางเลือกทุกทาง และเราก็ต้องการที่จะสร้างความมั่นใจว่า ทางเลือกในการทำสงครามอีกครั้งไม่ได้รับการพิจารณา โดยไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆก็ตาม สหรัฐก็ไม่ควรที่จะใช้ทางเลือกทางทหาร ถ้าหากไม่ได้รับการยินยอมจากเกาหลีใต้" "เราจำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแบบสันติ โดยใช้วิธีการใดๆก็ตามที่เราสามารถใช้ได้" นางชูจะประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐที่กรุงวอชิงตันในเร็วๆนี้ โดยถ้อยแถลงของนางชูเป็นการตอกย้ำความกังวลของเกาหลีใต้ที่ว่า ถ้าหากสหรัฐโจมตีโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ การโจมตีดังกล่าวก็อาจจะเป็นการยั่วยุให้เกาหลีเหนือดำเนินการตอบโต้อย่างร้ายแรงต่อเกาหลีใต้

 

ออสเตรเลีย

สำนักงานสถิติออสเตรเลียเปิดเผยว่า การจ้างงานของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ขณะที่อัตราว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปีครึ่ง ทั้งนี้ มีการจ้างงงานใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 3,700 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 17,500 ตำแหน่ง แต่มีการทบทวนปรับเพิ่มข้อมูลการจ้างงานในเดือนก.ย.เป็นเพิ่มขึ้น 26,600 ตำแหน่ง จาก 19,800 ตำแหน่งที่รายงานไปเบื้องต้น การจ้างงานแบบเต็มเวลาเพิ่มขึ้น 24,300 ตำแหน่ง ส่งผลให้ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นทั้งปี 298,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.1% สู่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2013

 

ฟิลิปปินส์

นายเนสเตอร์ เอสเปนิญญา ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์กล่าวว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังไม่เผชิญกับความเสี่ยงที่จะขยายตัวร้อนแรงเกินไป หลังจากข้อมูลระบุว่า จีดีพีเพิ่มขึ้นมากเกินคาด 6.9% ในไตรมาส 3 เขากล่าวอีกว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งในไตรมาสที่แล้วประกอบกับ "อัตราเงินเฟ้อที่สามารถจัดการได้นั้นสอดคล้องกับที่พวกเราคาดไว้ และสนับสนุนจุดยืนนโยบายในขณะนี้"

สำนักงานสถิติฟิลิปปินส์แถลงว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 โดยเติบโต 6.9% ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเกินคาดและถือเป็นอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบหนึ่งปี โดยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งในภาคบริการและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของฟิลิปปินส์ปรับขึ้น 6.9% ต่อปีในไตรมาส 3 หลังจากปรับขึ้น 6.7% ต่อปีในไตรมาส 2 ทางด้านโพลล์รอยเตอร์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จีดีพีอาจปรับขึ้นเพียง 6.5% ต่อปีในไตรมาส 3  เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตสูงกว่า 6% เป็นเวลา 9 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว โดยฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วสุดในเอเชีย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญกับอุปสรรคบางประการ ซึ่งรวมถึงการที่เปโซเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 11 ปี และความเป็นไปได้ที่มาตรการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์จะประสบกับความล่าช้า

 

ไทย

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การบริหารหนี้สาธารณะ โดยเป็นการกำหนดคำนิยามของ"หนี้สาธารณะ"ให้ชัดเจน คือหนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืม ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันพฤหัส (16 พย.) เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินเนื่องจากแผนภาษีของวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันของสหรัฐได้รับคำตำหนิจากวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันสองคนในวันพุธ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าแผนภาษีนี้จะเผชิญกับปัญหายุ่งยาก เพราะว่าพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาในสัดส่วนเพียง 52 ต่อ 48 เสียง และถ้าหากมีวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันมากกว่า 2 คนคัดค้านแผนภาษีนี้ แผนภาษีนี้ก็จะไม่ผ่านวุฒิสภา ขณะที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาเมื่อคืนนี้โดยรวมยังออกมาดีต่อเนื่องและสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในเดือนธันวาคมนี้ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้เช่นกันหากไม่มีปัจจัยเรื่องความกังวลเกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯเข้ามากระทบ ทั้งนี้ดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงค่ำวันพฤหัสต่อเนื่องถึงเช้าวันศุกร์จากข่าวสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯพรรครีพับบลิกัน 4 คนไม่เห็นด้วยกับแผนภาษีเนื่องจากจะทำให้การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯพุ่งขึ้น

- ดอลลาร์/เยน วันพฤหัส (16 พย.) เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ดีช่วงนี้ดอลลาร์สหรัฐฯถูกกดดันให้อ่อนค่าจากปัจจัยเรื่องความกังวลเกี่ยวกับแผนภาษีของสหรัฐฯซึ่งถ้าไม่ผ่านสภาจะส่งผลลบอย่างมากในระยะสั้นต่อตลาดการเงินเนื่องจากก่อนหน้านี้นักลงทุนจำนวนมากคาดหวังผลในทางบวกเป็นอย่างมากจากแผนในการลดภาษีดังกล่าว ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจโดยรวมในขณะนี้ยังค่อนข้างหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐฯค่อยๆมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีต่อเนื่อง ขณะที่ญี่ปุ่นการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนยังอ่อนแอทำให้ต้องคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป

- ยูโร/ดอลลาร์ วันพฤหัส (16 พย.) เงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ ขณะที่ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยูโรโซนโดยรวมก็ออกมาดีซึ่งสนับสนุนให้ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางยูโรปทยอยลดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน

 

Capital Market

- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันพฤหัส (16 พย.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดเพิ่มขึ้นอย่างมากในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นที่เกี่ยวกับผลประกอบการ โดยหุ้นวอล-มาร์ทพุ่งขึ้นมากถึง 11% หลังรายงานการขยายตัวของรายได้ที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่หุ้นซิสโกปิดพุ่งขึ้น 5.2% หลังรายงานผลกำไรรายไตรมาสสูงเกินคาด ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเพิ่ม 0.80% สู่ระดับ 23,458.36, ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 0.82% สู่ระดับ 2,585.64 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 1.30% สู่ระดับ 6,793.29

- ตลาดหุ้นเอเซีย วันพฤหัส (16พย.) ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดเพิ่มขึ้น 1.47% สู่ระดับ 22,351.12 ขณะที่นักลงทุนกลับเข้าซื้อเก็งกำไร หลังจากตลาดลดลง 4 วันติดต่อกัน หุ้นเพิ่มขึ้น 30 กลุ่มจาก 33 กลุ่ม โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นได้แก่หุ้นของบริษัทที่แถลงผลกำไรที่สดใส อาทิ กลุ่มเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง, เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้า แต่หุ้นกลุ่มเหมืองลดลง 1.6% ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ส่วนดัชนีเซี่ยงไอ้คอมโพสิตปิดลดลง 0.08% สู่ระดับ 3,399.86

- ตลาดหุ้นไทย วันพฤหัส ( 16 พย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้สูงขึ้นในช่วงเปิดตลาดก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงหลังจากนั้นส่งผลให้ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.99 จุด โดยวันนี้มีแรงขายมากในหุ้นกลุ่มพลังงาน วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ ขณะที่มีแรงซื้อมากในหุ้นกลุ่มขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พาณิชย์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 17 พ.ย. 2560

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday41574
mod_vvisit_counterYesterday55307
mod_vvisit_counterAll days165879359

We have: 779 guests online
Your IP: 54.227.136.157
 , 
Today: Mar 19, 2024

11206536