เงินเฟ้อครึ่งปีแรก ... ยังไม่สร้างแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน BY ศูนย์วิจัยเคแบงก์
|
|
|
|
Thursday, 01 April 2010 16:44 |
เงินเฟ้อครึ่งปีแรก ... ยังไม่สร้างแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเรื่อง เงินเฟ้อครึ่งปีแรก ... ยังไม่สร้างแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงในเดือนมีนาคม 2553 และมีแนวโน้มที่จะชะลอลงต่อเนื่องต่อไปในเดือนเมษายน ขณะที่ภาพรวมทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 น่าจะยังคงเป็นระดับที่ไม่สร้างแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญนัก อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางเงินเฟ้อ และปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไป ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนมีนาคม 2553 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) จากร้อยละ 3.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) มาอยู่ที่ระดับ 107.13 จาก 106.88 ในเดือนก่อน รวมทั้งยังเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น หลังวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ในเดือนมีนาคมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (YoY) จากร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 สำหรับภาพรวมในไตรมาสที่ 1/2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงชะลอต่อไปในเดือนเมษายน โดยอาจจะต่ำกว่าร้อยละ 3 (YoY) แม้การยกเลิกมาตรการค่าน้ำประปาฟรีจะมีผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับขึ้นบ้างก็ตาม ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนเป็นสำคัญ โดยในช่วงเดือนเมษายน 2552 ราคาสินค้าอาหาร ไม่ว่าผักผลไม้และเนื้อสัตว์ ตลอดจนราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (MoM) สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (ซึ่งธปท. ใช้เป็นเครื่องมือหลักในการติดตามเสถียรภาพราคา) ยังมีระดับต่ำ แม้ว่าอาจจะเริ่มกลับเข้ามาสู่ภายในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท. แต่คงมีระดับสูงกว่าร้อยละ 0.5 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าที่ยังมีค่อนข้างน้อย
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อ ได้แก่ ทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น โดยปกติแล้วมักเป็นปัจจัยลบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น ยังต้องติดตามราคาสินค้าเกษตร ซึ่งแม้ขณะนี้ สินค้าบางประเภท เช่น น้ำตาลและข้าว เริ่มชะลอลง แต่ยังต้องดูผลกระทบของภาวะแล้งต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงต่อไปด้วย ขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาลในการดูแลราคาสินค้ารวมทั้งการช่วยเหลือด้านราคาสาธารณูปโภคและพลังงานก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ยังคงดำเนินการต่อไป 4 มาตรการ (ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม) ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน รัฐบาลคงจะมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 ไว้อยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 แต่ปรับกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้แคบลงเป็นร้อยละ 1.5-2.0 โดยเป็นการขยับกรอบบนลงมาจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.5-2.5 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง และอาจกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ผลิตยังพยายามรักษาระดับราคาสินค้าโดยมีการปรับขึ้นในขอบเขตเท่าที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งมีผลของการที่รัฐบาลคงมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคในหลายส่วน
โดยสรุป จากการประเมินทิศทางเงินเฟ้อในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยด้านเงินเฟ้อเพียงลำพัง ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจของทางการมากนักในช่วงครึ่งปีแรก โดยในช่วงเดือนข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจยังมีทิศทางชะลอลง และคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 (YoY) ในไตรมาสที่ 2/2553 ชะลอลงจากร้อยละ 3.8 ในไตรมาสแรก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.2-1.4 ซึ่งแม้ว่าสูงขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก แต่ก็ยังเป็นระดับที่ไม่สูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ร้อยละ 1.25 มากนัก
ดังนั้น ในการกำหนดทิศทางนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการเงิน คงมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย โดยหากมองปัจจัยในด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่มีการรายงานออกมาล่าสุด โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งโดยต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดในช่วง 2 เดือนแรก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐส่วนใหญ่ รวมทั้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มมุมมองในเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 แต่ต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป โดย ณ ขณะนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก และบริการหลายกลุ่มในกรุงเทพฯ ก็ออกมาระบุว่าได้รับผลกระทบแล้ว และมีความกังวลว่าผลกระทบอาจจะรุนแรงขึ้น หากปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อยาวนานออกไป ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายของทางการที่จะไม่เร่งรีบถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องไปได้
อย่างไรก็ตาม ทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสูงเกินร้อยละ 3.5 พร้อมๆ กันกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจจะขยับขึ้นไปแตะร้อยละ 2.0 ในช่วงต้นๆ ของครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนเข้าหาร้อยละ 3.0 ในปลายปี จากแนวโน้มดังกล่าวจึงน่าจะเป็นผลทำให้ ในที่สุดแล้ว ทิศทางอัตราดอกเบี้ยคงจะเริ่มหันกลับไปสู่ทิศทางขาขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
|
Comments