Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View คาด กนง.คงดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง BY ศูนย์วิจัยเตแบงก์
คาด กนง.คงดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง BY ศูนย์วิจัยเตแบงก์ PDF Print E-mail
Friday, 16 April 2010 12:44

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน เรื่อง คาด กนง.คงดอกเบี้ย  ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยระบุว่า ในวันที่ 21 เมษายน 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะมีการประชุมรอบที่ 3 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนสำหรับธุรกรรมทวิภาคีระยะเวลา 1 วัน (1-day Bilat Repo Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.25 นับตั้งแต่เดือนต้นเมษายน 2552  ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ จากอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังผ่อนปรนต่อเนื่องของทางการไทย คงไม่อาจปฏิเสธว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันมีความจำเป็นลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธปท.ก็ออกมาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องถึงมุมมองนโยบายอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความซับซ้อนและยากจะยุติลงโดยเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีน้ำหนักอยู่ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังไม่เป็นแรงกดดันที่ทำให้ กนง.ต้องเร่งรีบดำเนินการดูแลในระยะใกล้ ด้วยเหตุนี้ กนง.จึงน่าที่จะยังพอมีพื้นที่ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 1.25 ในการประชุมวันที่ 21 เมษายนนี้ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) อาจจะต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ต่อไป

ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ … พัฒนาการทางการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญ
ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ไว้ที่ประมาณร้อยละ 0.2-1.5 ผ่านการถดถอยลงของความเชื่อมั่นภาคเอกชน การชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ กิจกรรมในภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริการที่ซบเซาลง ตลอดจนแรงกระตุ้นที่แผ่วลงจากการใช้จ่ายและการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐ โดยในกรณีเลวร้ายที่การเมืองยืดเยื้อและรุนแรง หรือรัฐบาลไม่สามารถบริหารนโยบายได้อย่างราบรื่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 อาจจะโน้มเอียงเข้าหาขอบล่างของกรอบประมาณการที่ร้อยละ 3.5 แต่หากการเมืองยุติลงด้วยความเรียบร้อยและไม่กินเวลายาวนาน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ในวงจำกัด อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ก็อาจจะเอียงเข้าหากรอบบนของประมาณการที่ร้อยละ 6.0

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีแนวโน้มสดใสขึ้นกว่าในปี 2552 จากแรงขับเคลื่อนในภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของไทย รวมทั้งปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ จนทำให้ทางการเห็นว่าการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายอย่างมากเป็นเวลายาวนานอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากภาวะไม่สมดุลของเศรษฐกิจในบางสาขา แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จังหวะเวลาที่เหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการถอยออกจากนโยบายที่ผ่อนคลายอย่างมาก เพราะหากดำเนินการเร็วเกินไป กลับจะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจมีโอกาสจมลงสู่ภาวะชะลอตัวได้

ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ … ยังไม่ใช่ปัจจัยกดดันเร่งด่วนที่ต้องเข้าดูแลในระยะใกล้
จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ กนง.ใช้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินนโยบายการเงิน แม้จะมีแนวโน้มขยับขึ้น แต่ก็ยังคาดว่าจะมีระดับต่ำหรือไม่ห่างไกลมากนักจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2553 และกว่าที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวขึ้นแรงจนเข้าใกล้ขอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ก็อาจจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ยิ่งในกรณีที่สถานการณ์การเมืองยืดเยื้อออกไป โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยับสูงขึ้นจนเลยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ยิ่งอาจมีน้อยลง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะยังไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนที่ กนง.ต้องรีบเข้าดำเนินการดูแลในระยะเวลาอันใกล้นี้

โดยสรุป คงต้องยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างมาก มีลดลงเมื่อเวลาผ่านไป การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่สภาวะที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) เพื่อปรับสมดุลนโยบายการเงินและหลีกเลี่ยงโอกาสที่เศรษฐกิจจะผชิญกับภาวะไม่สมดุลในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ ทว่า จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหากทำเร็วเกินไป อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้มีโอกาสกลับสู่ภาวะชะงักงันหรือชะลอตัวลง โดยเฉพาะหากการเมืองสร้างความสูญเสียอย่างมากต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายภายในประเทศ หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับต่ำต่อเนื่องใน
อีก 1-2 ไตรมาส ก็ยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยเร่งด่วนที่ต้องเข้าจัดการดูแลในทันทีจากมุมมองข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า กนง.น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 1.25 ในการประชุมวันที่ 21 เมษายนนี้ และรอดูผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจก่อนที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ในการทยอยถอยออกจากนโยบายผ่อนปรนเป็นพิเศษ

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น คงจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยแม้ว่าเงินบาทอาจยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ ผนวกกับความเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะถูกเลื่อนออกไป แต่เงินบาทก็อาจจะได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังจากที่ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียทยอยเพิ่มความเข้มงวดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของตน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับเพิ่มค่าเงิน (ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2553 ธนาคารกลางสิงคโปร์มีมติปรับเพิ่มค่ากลางของช่วงการปรับตัวของเงินดอลลาร์สิงคโปร์) สภาวะแวดล้อมดังกล่าว คาดว่าอาจจะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าด้วยกรอบความเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้นในระยะเวลาต่อจากนี้ แม้อาจมีอัตราการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอัตราการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คงจะมีผลต่อแนวโน้มการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในสาขาที่มีธุรกิจอยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือมีเครือข่ายธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจในย่านดังกล่าว อาทิ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งคงจะต้องมีการประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งในด้านจุลภาค คือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในแง่ของกระแสเงินสด คุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความต้องการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อ รวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคหรือแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม ที่อาจชะลอตัวลงจากการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค เป็นต้น ฉะนั้นแล้ว หากสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อออกไป แผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งการรุกสินเชื่อและการดึงเงินฝากเพื่อเตรียมขยายธุรกิจในปีนี้ อาจจะต้องถูกทบทวนในระยะถัดไป หรือหมายความว่า การแข่งขันกันสู้ราคาในด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (ที่เดิมอาจจะมีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) คงจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงนับจากนี้จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองจะเริ่มคลี่คลายลง ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์น่าที่จะยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด ก็ตาม

ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการที่มีแนวโน้มเลื่อนออกไป น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการแสวงหาเงินลงทุน เพราะทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีแนวโน้มไม่ปรับขึ้นมาก น่าจะเอื้อต่อการออกหุ้นกู้เอกชนด้วยต้นทุนการระดมทุนที่ไม่แพงมากนัก สำหรับผู้ออม ทางเลือกการออมที่เสนอผลตอบแทนจูงใจ อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง หุ้นกู้เอกชนที่มีฐานะการเงินมั่นคง กองทุนรวมต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้ออมเงิน ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปยังมีแนวโน้มยืนที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย    


Written by :
พิราบขาว
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday1113
mod_vvisit_counterAll days1113

We have: 1113 guests online
Your IP: 18.188.59.124
Mozilla 5.0, 
Today: Nov 29, 2024

4164656