แบงก์ชาติห่วง NPL ธพ.พุ่งรับพิษการเมือง
|
|
|
|
Monday, 31 May 2010 14:57 |
นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2553 แม้ยังมีความน่าเป็นห่วงจากปัญหาทางการเมืองที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ต้องมีความวิตก และไม่มีความกังวลต่อ ภาคอุตสาหกรรมประเภทใดเป็นพิเศษ
'อย่างกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าที่สุดแล้วการท่องเที่ยวไทยทั้งปีจะเป็นเช่นไร โดยในส่วนของสถาบันการเงินมีความสามารถเฉพาะตัวจากประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างดีที่จะดูแลลูกค้าของธนาคารรวมไปถึงดูแลฐานะของตนเอง' นายเกริก กล่าว อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1/2553 แม้แนวโน้ม NPL จะทรงตัวจากปลายปีก่อน แต่หากประเมินจากไตรมาส 2/2552 ต่อเนื่องมา 3 ไตรมาส ก็จะเห็นว่า NPL ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สาเหตุที่ไม่แสดงความกังวลต่อฐานะการเงินของธนาคาร เนื่องจากจะพบว่าประเด็นสำคัญในการกันสำรองสูงเกินกว่าเกณฑ์ของ ธปท.ที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยเงินสำรองอยู่ที่ประมาณ 130% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบธนาคารมีความเข้มแข็ง
'ถ้า NPL ขึ้นหรือลงมันก็ต้องมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ขึ้นหรือลงนิดหน่อยก็กังวล ถ้ามันยังต่ำกว่า 5% แบบทุกวันนี้ก็โอเค ไม่มีสัญญาณอะไรทั้งนั้น ผมไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง เราห่วงใย เราให้ความสนใจ แต่ไม่ควรไปวิตกกังวลจนเกินเหตุ เราคุยกับแบงก์เขาก็ประเมินสถานการณ์ไม่ใช่แค่ NPL แต่รวมไปถึงความเสียหายต่างๆ เรา ห่วงแบงก์เหมือนห่วงลูก ห่วงว่าเขาจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้ห่วงว่าเขาจะไปกินอะไร กินแล้วจะเป็นอย่างไรจนเกินเหตุ' นายเกริกกล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารบางแห่งเริ่มออกมาระบุว่า อาจจะปรับแผนธุรกิจภายในปีนี้ ซึ่งรวมไปถึงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ นายเกริกกล่าวว่า การปรับเป้าหมายต่างๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดาตามมุมมองที่ธนาคารประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี รวมไปถึงภาคการลงทุนต่างๆ ซึ่งเป็นการตั้งสมมติฐาน และโดยปกติแล้วธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจประเภทตามไม่ใช่ธุรกิจนำ ดังนั้นจึงเป็นการคาดการณ์ที่หาความจริงลำบาก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีหน้าที่ส่งต่อเงินจากภาคครัวเรือนไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งหากมีแรงส่งได้สูงกว่าที่คาดการณ์ ถือว่าไปได้ดี แต่ทั้งนี้ธปท.มีหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
|
Comments