เคทีซีตีตื้นไตรมาสแรกทำกำไร60ล้านบาท |
Friday, 13 May 2011 23:55 | |||
เคทีซีแจง 3 เดือนแรกของปี 2554 รับรายได้รวม 3,069 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 2.3 ล้านบัญชี พอร์ตลูกหนี้รวม 43,135 ล้านบาท กำไรสุทธิ 60 ล้านบาท โตขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยรับของธุรกิจสินเชื่อบุคคลและรายได้ค่าธรรมเนียม Interchange ของธุรกิจบัตรเครดิตที่สูงขึ้น รวมทั้งรับคืนรายได้จากหนี้สูญเพิ่มขึ้น เดินหน้าเต็มสตรีมสู่โอเพ่นแบรนด์ จับทางโซเชี่ยล มีเดีย เป็นหัวหอกดึงสมาชิกกลุ่ม B คู่ค้าทางธุรกิจและกลุ่มสังคมของลูกค้า ร่วมสร้างแบรนด์ เพื่อความเป็นหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคของไทย นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ธุรกิจสินเชื่อมีแนวโน้มแข่งขันมากขึ้น โดยเคทีซีได้ประกาศปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่ให้รับกับกระแสโลก ด้วยการรีเฟรช แบรนด์ สู่การเป็นโอเพ่น แบรนด์ ด้วยแนวคิด we write the stories และกำหนดฐานลูกค้าในแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเข้าถึงสมาชิกกลุ่ม B โดยได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์และสื่อที่เข้าถึง เพื่อนำมาใช้วางแผนการตลาด กำหนดวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมไปยังแต่ละกลุ่ม โดยจะใช้ช่องทางออนไลน์ และโซเชี่ยล มีเดีย เป็นหลัก” “สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 46,981 ล้านบาท ลดลงจาก 48,541 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 43,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 42,633 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ฐานสมาชิกรวม 2.3 ล้านบัญชี เติบโต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย บัตรเครดิต 1,763,514 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 31,892 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล “เคทีซี แคช” เท่ากับ 541,836 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซี แคช สุทธิ 10,847 ล้านบาท เป็นต้น” บริษัทฯ มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรก 60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากรายได้รวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3,069 ล้านบาท จาก 2,943 ล้านบาท โดยที่รายได้ดอกเบี้ยรับ (รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) และรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,006 ล้านบาท และ 769 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงาน รวมถึงการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในลูกหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายด้านการเงินลดลง 8% จากปีก่อนหน้า ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เท่ากับ 46% ลดลงเล็กน้อยจาก 47% ณ สิ้นปี 2553 หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเท่ากับ 1,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 979 ล้านบาทในปีก่อน จากการจัดหาสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการตั้งสำรองจำนวนมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจตามนโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทฯ เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในอนาคต” สำหรับไตรมาสแรกของปี 2554 บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 21,390 ล้านบาท และมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉลี่ยเท่ากับ 4.87% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.81% ณ สิ้นปี 2553 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) เพิ่มจาก 13.1% เป็น 13.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ ณ ระดับ 6.13 เท่า ลดลงจาก 6.42 เท่า ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนของการออกหุ้นกู้ที่ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของ ผู้ถือหุ้นให้ไม่เกิน 10 เท่า “สำหรับกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจากนี้ไป เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเป็น โอเพ่น แบรนด์ นอกจากการจัดกิจกรรมที่เจาะลูกค้ากลุ่ม B แล้ว จะมีการจัดหาสิทธิประโยชน์ข้ามสายระหว่างผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตด้วยกัน หรือบัตรเครดิตกับสินเชื่อบุคคล รวมทั้งสรรหาบริการและสิทธิพิเศษใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก ทั้งในหมวดการเดินทางท่องเที่ยว ประกัน และการลงทุน รวมถึงการทำโปรแกรมการตลาดเพื่อสร้างความผูกพันในแบรนด์ เช่น การใช้คะแนนสะสม KTC Forever Rewards และไมล์สะสม KTC Mile โดยการใช้สื่อใหม่ (New Media) และโซเชี่ยล มีเดีย เป็นช่องทางในการสื่อสารกับสมาชิกและขยายไปยังกลุ่มสังคมของสมาชิก (Communities of Consumers) ตลอดจนรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” นายนิวัตต์กล่าวปิดท้าย
|
Today | 1220 | |
All days | 1220 |
Comments