"ทรู"ร่อนหนังสือโต้บทความถูกทีดีอาร์ไอพาดพิง |
Friday, 13 May 2011 21:30 | |||
บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นส่งเอกสารข่าวชี้แจงต่อบทความของ TDRI ภายใต้หัวข้อว่า "คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ?" ดังนี้ ตามที่ได้ปรากฎบทความของ TDRI ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ภายใต้หัวข้อว่า “คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ?” โดยมีเนื้อหาส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ และในตอนท้ายของบทความดังกล่าว ได้กล่าวพาดพิงถึงทางบริษัททรูอย่างคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ทางบริษัทซึ่งเป็นบริษัทมหาชนมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น บริษัทฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้การเข้าใจผิดของผู้ที่อ่านบทความดังกล่าวของ TDRI เรื่องแรกที่ TDRI กล่าวว่าหากดีแทคไม่ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว TDRI คาดว่า “นอกจาก ทีโอทีแล้ว ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการ 3G อีกรายเดียวคือ ทรู” บริษัทฯขอชี้แจงว่าการคาดเดาของ TDRI ซึ่งอาจจะเกิดจากความหลงผิดในเนื้อหาสาระของกฎหมายและประกาศ กฎเกณฑ์ต่างๆ ของ กทช. นั้นเป็นเรื่องที่ผิดในสาระสำคัญ ตามโครงสร้างของสัญญาต่างๆและการดำเนินการนี้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก็คือ นอกจากทีโอทีซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการ 3G หลัก โดยมี บริษัทต่างๆหลายบริษัท เข้ารับดำเนินการในลักษณะของ MVNO แล้ว ผู้ให้บริการ 3 G หลักอีกรายหนึ่งคือ กสทฯ ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการในฐานะ “ผู้ขายส่งบริการ” ตามประกาศคณะกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยมี กสทฯ และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด รวมสองรายเข้ารับดำเนินการในฐานะ “ผู้ขายต่อบริการ” ตามประกาศดังกล่าวของ กทช. ในเรื่องการให้บริการภายใต้ความเสมอภาคนั้น ภายใต้กฎเกณฑ์ของ กทช. บรรดาผู้ให้บริการ MVNO ของทีโอที จะต้องให้บริการภายใต้เงื่อนไขเดียวกันที่กำหนดโดยทีโอที และเช่นเดียวกัน บรรดาผู้ให้บริการ “ขายต่อบริการ”ของ กสทฯ ก็จะต้องให้บริการภายใต้เงื่อนไขเดียวกันที่กำหนดโดย กสทฯ ทั้ง เอไอเอส และ ดีแทค ก็สามารถเข้าร่วมให้บริการ 3G ได้โดยเลือกเอาว่าจะเข้ากลุ่ม MVNO โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของทีโอที หรือจะขอเข้ากลุ่ม “ผู้ขายต่อบริการ” โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทฯ การแข่งโดยแบ่งเป็นกลุ่มเช่นนี้ มีข้อดีก็คือ ป้องกันการถือครองตลาดโดยกลุ่มของทีโอทีหรือกลุ่มของกสทฯ เพราะทั้งสองกลุ่มต้องแข่งกันเองไปจนกว่า กสทช.จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีผู้ให้บริการ 3G หลักมากกว่านี้ เรื่องที่สองที่ TDRI คาดเดาคือ “รัฐจะเสียหายจากการไม่ได้รับค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า สามหมื่นเก้าพันล้านบาท เนื่องจาก กสทฯ นำคลื่นของตัวเองไปให้ทรูใช้ ฯลฯ” บริษัทฯขอชี้แจงว่าการคาดเดาดังกล่าวเป็นไปอย่างไร้การวิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่นักวิชาการพึงจะกระทำคลื่นความถี่ที่กล่าวถึงกันนี้เป็นคลื่นความถี่ที่เดิม กสทฯ ได้รับมาจากกรมไปรษณีย์ในครั้งที่กสทฯยังเป็น การสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อภาครัฐโอนถ่ายอำนาจการกำกับดูแลโทรคมนาคมไปให้ กทช. โดยจัดตั้ง กทช.ขึ้นเป็นองค์กรอิสระ และแปรสภาพของการสื่อสารแห่งประเทศไทยให้กลายเป็นเพียงบริษัทมหาชนนั้น กทช.ก็ออกใบอนุญาตให้ กสทฯใช้คลื่นความถี่ต่างๆได้ ซึ่ง กสทฯ ก็ใช้คลื่นความถี่นี้เองภายใต้เครื่องหมายการให้บริการ Hutch โดยเช่าอุปกรณ์จากบริษัท บีเอฟเคที จำกัด และให้บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้ช่วยดำเนินการทางการตลาด ในปัจจุบันบริษัทในเครือของบริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นในบริษัทบีเอฟเคทีจำกัดและบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด จากผู้ถือหุ้นเดิม กสทฯก็ยังคงดำเนินการโดยใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวของตนเองต่อไป กสทฯ ไม่ได้โอนใบอนุญาตการใช้คลื่นไปให้บุคคลภายนอก โดยกสทฯ เพียงแต่ประกอบกิจการ “ขายส่งบริการ” และใช้คลื่นความถี่นั้นในการให้บริการดังกล่าว โดยที่ผู้ให้บริการ “ขายต่อบริการ” รุ่นแรกจะประกอบไปด้วย กสทฯ เอง และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด กสทฯมิได้นำคลื่นความถี่ไปให้บริษัทฯใช้ดังการคาดเดาของ TDRI แต่อย่างไร เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเมื่อใดที่ กสทช. จะนำคลื่นที่เหมาะสมกับ 3G คือคลื่นย่าน 2.1 MHz หรือคลื่นที่เหมาะสมกับ 4G ฯลฯ ออกมาให้ประมูล ผู้ให้บริการหลักทางด้านโทรคมนาคมไม่มีทางเลือกนอกจากจะเข้าร่วมประมูล แต่การที่แต่ละรายจะสู้ที่เงินเท่าใดนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับการการคาดการทางพาณิชย์ในด้านจุดคุ้มทุนของแต่ละรายซึ่งย่อมจะแตกต่างกันออกไป ยิ่งไปกว่านั้น ในการประมูลคลื่นความถี่โดย กสทช. นั้น มาตรา ๕๓ (๒) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่าให้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นนั้นเข้าไปที่ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ของกสทช. ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่ง กสทช. เป็นหน่วยงานอิสระออกจากการบริหารกิจการบ้านเมืองของรัฐบาล รายได้จากการประมูลคลื่นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าจะประหยัดงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด เรื่องนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องคงจะต้องติดตามเฝ้าดูการใช้จ่ายเงินของกองทุนนี้ต่อไป เรื่องที่สามที่ TDRI คาดเดานั้น คือสัญญาที่ กสทฯ ทำกับบริษัทในเครือของบริษัทฯ “มีลักษณะคล้ายสัมปทานระหว่าง กสทฯ และทรู จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ฯลฯ” การคาดเดานี้ไม่ได้แสดงเหตุผลประกอบการคาดเดา บริษัทฯขอเรียนว่าสัญญาระหว่าง กสทฯ และทรูนี้ผ่านยกร่าง ปรับปรุง และเจรจา และตรวจสอบจากนักกฎหมายมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ในด้านการสัญญามาอย่างมากมายหลายกลุ่ม เป็นต้นว่า (๑) ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการของ กสทฯ (๒)ฝ่ายกฎหมายของกสทฯ (๓)สำนักงานกฎหมายผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกสทฯ (๔)สำนักงานกฎหมายผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ (๕)ฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ (๖)สำนักงานกฎหมายผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของธนาคารผู้ให้กู้ (๗)ฝ่ายกฎหมายของธนาคารผู้ให้กู้ และ (๘)สำนักงานอัยการสูงสุด รวมจำนวนนักกฎหมายอาชีพผู้มีประสบการณ์หลายสิบท่าน ก็ไม่มีใครเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเหมือนสัมปทาน ดังการกล่าวอ้างของนักกฎหมาย TDRI
|
Today | 1057 | |
All days | 1057 |
Comments