เปิดโผ7กลุ่มรับเหมาบริหารจัดการน้ำ3.24แสนล้าน |
![]() |
![]() |
![]() |
Friday, 21 September 2012 14:29 | |||
คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัท 7 กลุ่ม ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โครงการดังกล่าวรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ วงเงิน 350,000 ล้านบาท จำนวน 10 โครงการ แบ่งเป็นแพ็คเกจ เอ ได้แก่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดผังการใช้พื้นที่ การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก การก่อสร้างฟลัดเวย์หรือทางน้ำหลาก และ การทำคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัย ส่วนแพ็คเกจ บี ได้แก่ ลุ่มน้ำอื่น คือ การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดผังการใช้พื้นที่ การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการทำคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัย
อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ให้กลุ่มบริษัทเสนอเข้ามานั้น จะเหลือวงเงิน 3.24 แสนล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเองและเป็นค่าบริหารจัดการ 2.6 หมื่นล้านบาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่าคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ โดยมีกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณารวม 7 กลุ่มบริษัท จากทั้งหมด 34 กลุ่มบริษัท
“ผู้เสนอกรอบแนวคิดที่ผ่านคุณสมบัติ 7 กลุ่มบริษัท ถือว่าไม่น้อย และเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำ มีผลงานประสบการณ์มากมาย โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาก็เป็นไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ มีกฎกติกา โปร่งใส ส่วนผู้เสนอกรอบแนวคิดที่ไม่ผ่านการพิจารณาสามารถมารับฟังการชี้แจงและอุทธรณ์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ผ่านเพราะเอกสารและผลงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นเอกสารรับรองจากสถานทูต หรือเอกสารรับรองผลงาน” นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับ รายชื่อ 7 กลุ่มบริษัท ได้แก่ 1.บริษัท วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (K Water) ประเทศเกาหลี ยื่นเสนอทั้ง 2 แพ็คเกจ มีผลงานรวม 6.82 แสนล้านบาท 2. ITD-POWERCHINA JV ประกอบด้วย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า บริษัท ไชน่า เก๋อโจวบ๋า กรุ๊ป จำกัด บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ แอนด์ พาวเวอร์ คอร์เปอเรชั่น และ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ยื่นเสนอทั้ง 2 แพ็คเกจ มีผลงานรวม 3.95 แสนล้านบาท
3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ บริษัท เอส.เค.วาย คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยน อินฟาร์เทค จำกัด ยื่นเสนอแพ็คเกจ เอ ใน 3 งานหลัก คือ การสร้างอ่างเก็บน้ำ การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการจัดทำคลังข้อมูล ส่วนแพ็คเกจ บี เสนอทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้มีผลงานรวม 2.05 หมื่นล้านบาท
4.กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท โรจน์สินก่อสร้าง จำกัด ยื่นทั้ง 2 แพ็คเกจ มีผลงานรวม 6.71 หมื่นล้านบาท
5.China CAMC Engineering Co.Ltd. ยื่นเฉพาะทำฟลัดเวย์ มีผลงานรวม 1.97 หมื่นล้านบาท 6.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย ประกอบด้วย 11 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น บริษัท คาจิมา คอร์ปอเรชั่น บริษัท ชิมิซี คอร์ปอเรชั่น บริษัท ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ซันยู คอนซัลแตนท์ส อินคอร์ปอเรชั่น บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแตนท์ส จำกัด บริษัท ยาชิโย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด องค์กรบริหารน้ำประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นทั้ง 2 แพ็คเกจ มีผลงานรวม 1.14 ล้านล้านบาท 7.Consortium TKC Blobal ประกอบด้วย 16 บริษัท ได้แก่ Pyunghwa Engineering Consultants Co.Ltd. Dongho Co.Ltd. Soosung Engineering Co.Ltd. Sunjin Engineering&Architecture Co.Ltd. Hyundai Architects&Engineers Assoctates Co.Ltd. Woongjin Caway Co.Ltd. Thai Engineering Consultants Co.Ltd. Roge and Associates Co.Ltd. Professional Project Management Co.Ltd. Lotus Park Corporation Co.Ltd. King Mongkut Institute of Technology Ladkrabang King Mongkut Institute of Technology Thonburi และ CM Grand Development Co.Ltd. ยื่นทั้ง 2 แพ็คเกจ มีผลงานรวม 4.33 หมื่นล้านบาท
นายชัชชาติ กล่าวว่าขั้นตอนหลังจากนี้ กลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจะต้องเข้ามารับฟังเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบในวันที่ 24 ก.ย.นี้ และกำหนดให้ยื่นกรอบแนวคิดภายในวันที่ 23 พ.ย. 2555 และจะประกาศผลการพิจารณาในวันที่ 31 ม.ค. 2556 "ระยะเวลาในการออกแบบ 2 เดือนนั้น เชื่อว่าเอกชนจะสามารถดำเนินงานได้ทัน เพราะขณะนี้หลายบริษัทน่าจะออกแบบล่วงหน้าแล้ว" นายชัชชาติ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ สามารถนำบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ หรือบริษัทอื่นๆ เข้าร่วมงานได้ เพื่อให้การออกแบบสมบูรณ์ที่สุด แต่ไม่สามารถปรับลดจำนวนบริษัทที่รวมกลุ่มในการยื่นข้อเสนอตั้งแต่แรกได้ สำหรับหลักในการพิจารณาผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นนั้น กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 10% ของกรอบวงเงินแต่ละ Module และโครงการต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ส่วนหลักในการพิจารณาผู้เสนอกรอบแนวคิดนั้น จะคัดเลือกผู้เสนอกรอบแนวคิดที่ดีที่สุด 3 รายในแต่ละ Module หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาคัดเลือกขั้นสุดท้าย ซึ่งจะเป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับพัสดุในการดำเนินโครงการฯ การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555ทุ่มงบ1.2แสนล้านบาทสร้างฟลัดเวย์
นายชัชชาติ กล่าวว่า กบอ. เปิดให้ผู้เสนอกรอบความคิดออกแบบ วงเงิน 3.24 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 พื้นที่หลัก คือ 1.พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งสิ้น 6 มาตรการ ได้แก่ 1.การสร้างอ่างกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน งบประมาณดำเนินการ 50,000 ล้านบาท 2.การจัดทำผังการใช้ที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ งบประมาณ 50,000 ล้านบาท
3.การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานพิษณุโลก บริเวณเหนือนครสวรรค์ และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ บริเวณเหนืออยุธยา ให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำ งบประมาณ 60,000 ล้านบาท 4.การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ งบประมาณ 7,000 ล้านบาท 5.การจัดทำทางน้ำหลาก (Flood way) และหรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที งบประมาณ 120,000 ล้านบาท และ 6.การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณ 3,000 ล้านบาท
2.พื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ มีทั้งสิ้น 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ งบประมาณ 12,000 ล้านบาท 2.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด และของภาค งบประมาณ 10,000 ล้านบาท 3.การปรับปรุงสภาพทางน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำ งบประมาณ 10,000 ล้านบาท และ 4.การปรับปรุงระบบคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณโครงการทั้งหมดทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท แต่หน่วยงานรัฐจะดำเนินการเอง 1.6 หมื่นล้านบาท และค่าบริหารจัดการอีก 1 หมื่นล้านบาท
|
![]() | Today | 874 |
![]() | All days | 874 |
Comments