บล.ฟิลลิป เปิดบริการ Fund Builder Plan หักเงินเข้าลงทุนรายเดือน |
Thursday, 01 August 2013 22:13 | |||
นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้เปิดบริการ Fund Builder Plan เป็นการลงทุนในกองทุนรวมรายเดือน ที่ใช้เงินลงทุนเพียง 5,000 บาทต่อเดือน เพื่อตอบสนองความต้องการคนทำงานประจำ อายุ 20 ปีขึ้นไป จนถึง 40 ปี ที่มองหาการออมอย่างเป็นระบบ หรือผู้ปกครองที่ต้องการออมเงินระยะยาวไว้ให้ลูกหลานในอนาคต รวมถึงผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุน ไม่มีเวลาติดตามข้อมูล ข่าวสารต่างๆ
การลงทุนดังกล่าวจะมีผู้จัดการกองทุนดูแลและบริหารจัดการเงินของผู้ลงทุนให้ทุกขั้นตอน ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะจัดแพ็กเกจลงทุนที่เหมาะสมตามความเสี่ยง หรือตามจำนวนเงินลงทุน เช่น Package 1: Prottfolio Size S หรือทางเลือกที่ 1 มีความเสี่ยงน้อย ก็จะแบ่งเงินลงทุนเข้าไปลงทุนในกองทุนหุ้น 20% กองทุนตราสารหนี้ 40% และ กองทุนตลาดเงิน 40% เป็นต้น
สำหรับการลงทุนดังกล่าวนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Average โดยบริษัทฯ จะทำการหักบัญชีเงินฝากธนาคารของลูกค้าอัตโนมัติ เพื่อลงทุนในวันที่ลุกค้าระบุให้ลงทุนทุกๆเดือน ได้แก่วันที่ 5 10 15 และ 20 ของเดือน ซึ่งบริการนี้จะช่วยจัดการเงินออมของผู้ลงทุนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ในระยะยาวจะสามารถสร้างผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่าน 22 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ที่ บล.ฟิลลิป เป็นตัวแทนจำหน่าย
นอกจากนี้บริษัทฯ กำลังจะเปิดตัวแอพลิเคชั่นที่สามารถซื้อขายกองทุนรวมจาก 22 บลจ. และติดตามพอร์ตการลงทุนและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ผ่านไอโฟนและไอแพด ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดตัวได้ภายในไตรมาส 3 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ออมกองทุนรายเดือนสามารถติดตามพอร์ตการลงทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายสานุพงศ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะชอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยได้ปรับประมาณการณ์ GDP ของไทยในปีนี้มาเหลือเติบโต 4.5% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น การลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ล่าช้าออกไป และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งทำส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย
รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อสิ้นค้าคงทนลดลง และมาตรการลดหย่อนภาษีรถยนตร์คันแรกส่งผลต่อเนื่องน้อย ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศมาจากเศรษฐกิจประเทศจีนชะลอตัว ส่งผลถึงภาคส่งออกของประเทศไทยชะลอตัวตาม แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป จะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากจีนได้หมด
"ทิศทางครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีนัก อาจจะชะลอตัวลง ซึ่งยังมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างเยอะ อย่างการเมืองก็ยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องของการลงทุนต่างๆของภาครัฐที่อาจจะมีการเลื่อนออกไป ก็ส่งผลถึงภาพรวมของภาคเอกชนชะลอตัวลงตาม ครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการ QE เข้ามากดดัน มองว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงมากกว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าที่จะเห็นถึงความชัดเจนหลายๆเรื่อง เช่น โครงการน้ำ และงบประมาณต่างๆของภาครัฐ รวมถึงมาตรการ QE ก็น่าจะมีความชัดเจนขึ้น หากมองถึงปีหน้าเศรษฐกิจยังคงเติบโตเหมือนเดิมที่ 5% การปรับตัวของหุ้นก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของบ้านเรา" นายสานุพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้มของ SET Index ครึ่งปีหลังมองว่าในระยะยาวตลาดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่ในระยะสั้นยังคงมีความแกว่งตัวค่อนข้างแรง โดยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะเห็นตลาดปรับตัวลงไปทดสอบ 1,350 จุด ก่อนจะดีดตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีมาที่ 1,600-1,650 จุด เนื่องจากเชื่อว่าการลงทุนและการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในระยะยาวเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ดีดตัวรุนแรงเหมือนปีก่อนเนื่องจากมาตรการ QE ไม่มีแล้ว ทำให้เงินที่ไหลเข้ามาเป็นเงินลงทุนที่มีจำกัด
|
Today | 433 | |
All days | 433 |
Comments