“ความเสี่ยงทางการคลัง : ความท้าทายเชิงนโยบาย” |
Friday, 02 August 2013 21:50 | |||
ดร. สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556 “ความเสี่ยงทางการคลัง: ความท้าทาย เชิงนโยบาย” เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2556 ณ ห้องนภาลัยบอลลูม โรงแรมดุสิตธานี ว่า การสัมมนาวิชาการของ สศค. ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 600 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับในนโยบายและผลงานด้านเศรษฐกิจ การคลัง และการเงิน ให้แก่ประชาชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นเวทีให้ข้าราชการ สศค. ได้นำเสนอผลงานและแนวคิดทางวิชาการในเรื่องที่สำคัญหรืออยู่ในความสนใจของสังคม รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อไป
โดย สศค. ได้รับเกียรติจาก ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจเพื่อการคลังที่ยั่งยืน” ซึ่งได้กล่าวว่าในเรื่องความเสี่ยงทางการคลัง มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เป็นไปตามประมาณการในอนาคต ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน อันจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 2) การกำหนดนโยบายรายจ่ายให้สอดคล้องกับการจัดเก็บรายได้ในอนาคต ซึ่งรายจ่ายที่จะต้องให้ความสำคัญได้แก่รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะด้านการชราภาพ และการรักษาพยาบาล และ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลการคลังให้มีความเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานของรัฐในระดับต่างๆ และการแก้ไขปัญหาการทุจริต ทั้งนี้ กระทรวง การคลังจะบริหารนโยบายการคลังตามแนวทางข้างต้นภายใต้การรักษาวินัยทางการคลัง โดยระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 50 และลัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณจะต้องเพิ่มสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน
ในช่วงเช้า เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ 2 เรื่อง ได้แก่ “ความเสี่ยงทางการคลังจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” และ “ความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ” สรุปได้ดังนี้
นายณัฐพล ศรีพจนารถ นำเสนอว่า ภาระทางการคลังด้านสวัสดิการจะมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปีในช่วง 50 ปีข้างหน้า โดยในส่วนของสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 232,704 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 เป็น 2,151,010 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2606 โดยรัฐบาลควรดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลและเจรจาต่อรองการซื้อบริการจากสถานพยาบาล และการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคมเพื่อลดภาระของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
นายณัฐพล สุภาดุลย์ กล่าวว่าภาระงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาระทางการคลังขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมากในอนาคต โดยภาพรวมภาระทางการคลังในด้านนี้ จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 291,022 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 เป็น 16,5885,934 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2606 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความเสี่ยงจากการประสบปัญหาทางการเงินของกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2595 ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการของกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มอายุเกษียณ และการส่งเสริมการออมเงินเพื่อการชราภาพของประชาชน
นายธนากร ไพรวรรณ์ นำเสนอว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มช่องว่างในระบบการเงิน รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติในรูปของนโยบายกึ่งการคลัง อย่างไรก็ดี การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของ SFIs ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้เกิดข้อกังวลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกรอบการกำกับดูแลการดำเนินงานของ SFIs ที่อาจไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของระบบ SFIs รวมไปถึงความเสี่ยงและภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานของ SFIs
นายปฐมพงษ์ เอกวนิชชาญ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาระทางการคลังพบว่า ภาระทางการคลังในปีงบประมาณ 2558 -2562 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1-1.2 ต่อ GDP และร้อยละ 6-7 ของงบประมาณ ซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยการศึกษาพบว่าควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดช่องว่างทางการเงิน และพัฒนาระบบการกำกับดูแลและบรรษัทภิบาล เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงภาระทางการคลัง จากการดำเนินงานของ SFIs
ศ. ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า นอกจากการพิจารณาสวัสดิการสังคมในเชิงปริมาณแล้ว รัฐบาลควรมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังมีความเหลี่อมล้ำระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ในขณะที่กลุ่มผู้ด้อย โอกาสยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ การจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อยู่ในรูปการสงเคราะห์มากกว่าการส่งเสริมให้พึ่งตนเอง ดังนั้น รัฐบาลควรวางแผนในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งกระจายภารกิจดังกล่าวให้ อปท. และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกำหนดสวัสดิการสังคม แก่ผู้สูงอายุที่นำไปสู่ความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว
ดร. บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาความเหมาะสมของบทบาท SFIs พร้อมพิจารณาการปรับโครงสร้างที่จำเป็น โดยอาจพิจารณาจากประสบการณ์ของต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบตัวชี้วัดและการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาถึงระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศที่เกิดจาก SFIs ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวประกอบด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถคาดเดาได้ สำหรับแนวทางในการลดความเสี่ยง เห็นว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวทางการเพิ่มรายได้ และการวิเคราะห์ภาระด้านรายจ่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ สศค. จะนำผลงานวิจัย ข้อเสนอแนะ และข้อวิจารณ์ต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนางานและประกอบการออกแบบนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
|
Today | 594 | |
All days | 594 |
Comments