บสย. เปิดผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2568 ช่วย SMEs รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 2 หมื่นราย |
![]() |
![]() |
![]() |
Wednesday, 16 July 2025 22:11 | |||
-เร่งยอดค้ำฯ จัด “มาตรการพิเศษ” 5,000 ล้าน ช่วย “กลุ่มเปราะบาง” กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง บสย. เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อครึ่งปีแรก 2568 รวม 19,481 ล้านบาท ช่วย SMEs รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อ 21,348 ราย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 80,000 ล้านบาท ชู ไฮไลท์ “บสย. พร้อมค้ำ” กับ “มาตรการพิเศษ 5,000 ล้าน” ส่ง 2 โครงการค้ำประกันช่วยกลุ่มผู้ส่งออกรับมือภาษีทรัมป์ และ “กลุ่มเปราะบาง” รายย่อย พร้อมเพิ่มโอกาส SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วย “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย.” พร้อมภารกิจแก้หนี้ ช่วย SMEs ที่ถูกจ่ายเคลม หนี้ลด หมดเร็ว เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2568 (ม.ค.-มิ.ย.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 19,481 ล้านบาท โดยสัดส่วน 51% เป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง (BI 7) และ 49% เป็นโครงการตามมาตรการรัฐ (PGS 11) สามารถช่วย SMEs รายย่อย เข้าถึงสินเชื่อ 21,348 ราย เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย Micro SMEs 81% (ค้ำประกันเฉลี่ย 140,000 บาทต่อราย) และอีก 19% เป็น SMEs ทั่วไป (ค้ำประกันเฉลี่ย 4,250,000 บาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 26,359 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 188,572 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 80,455 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. การบริการ 31.4% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 10.7% และ 3. เกษตรกรรม 8% ซึ่งทั้ง 3 ประเภทครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 50% สะท้อนอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว-เกษตรและอาหารแปรรูป-medical and wellness” ที่ภาครัฐเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนและผลักดันเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ สำหรับ โครงการค้ำประกัน PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการหลัก ตั้งแต่เปิดโครงการถึงปัจจุบัน (ก.ค. 2567 – มิ.ย. 2568) มียอดค้ำประกัน 38,009 ล้านบาท สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 48,380 ราย โดยเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการ บสย. (ลูกค้าใหม่) ถึง 74% และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Micro SMEs ถึง 86% ตอกย้ำความสำเร็จในการช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” รายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ (กระบะพี่ มีคลังค้ำ) ที่มีปัญหาขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขาดคนค้ำประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ไฮไลท์สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน) ภายใต้มาตรการ “บสย พร้อมค้ำ” บสย. ได้ออก “มาตรการพิเศษ” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Power Trade & Biz วงเงิน 3,000 ล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 500,000 – 10,000,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มที่ได้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Micro Biz วงเงิน 2,000 ล้านบาท ค้ำประกันต่อราย 10,000 – 500,000 บาท ตอบโจทย์กลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) พ่อค้า แม่ค้า ค้าขายออนไลน์ อาชีพอิสระ ฯลฯ ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ขาดคนค้ำและขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยทั้ง 2 โครงการมีจุดเด่น คือ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก ปีต่อไปชำระต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันสูงสุด 7 ปี มุ่งเสริมสภาพคล่อง และลดภาระทางการเงิน ช่วยให้ SMEs เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายทั้ง 2 โครงการ มุ่งกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในรายที่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยการจ่ายเคลม (จ่ายค่าประกันชดเชย) สูงถึง 37% (SMEs Power Trade & Biz) และ 42% (SMEs Micro Biz) ต่อพอร์ตการค้ำประกันเมื่อเทียบกับการค้ำประกันปกติที่ระยะเวลา 10 ปี โดยมาพร้อมมาตรการแก้หนี้ “บสย. พร้อมช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม ซึ่งถือเป็นการดูบซับความเสี่ยงด้าน Credit Cost ให้กับ SMEs รายย่อย สนับสนุนให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นในการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มให้กับ SMEs รายย่อยมากยิ่งขึ้น ตลอดครึ่งปีแรก บสย. ประสบผลสำเร็จในการแก้หนี้ให้ลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม โดยตั้งแต่ออก มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ในปี 2565 จนถึง 30 มิถุนายน 2568 สามารถปรับโครงสร้างหนี้ 20,904 ราย คิดเป็นมูลหนี้สะสมรวม 13,414 ล้านบาท เฉพาะครึ่งปีแรก สามารถปรับโครงสร้างหนี้ 2,415 ราย ในจำนวนนี้เป็น “กลุ่มเปราะบาง” ยอดจ่ายเคลมไม่เกิน 2 แสนบาท 1,676 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 1,542 ล้านบาท และสามารถช่วยลูกหนี้ “ปลดหนี้” ปิดบัญชีได้สำเร็จ 12% ของจำนวนรายที่ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด ปัจจัยความสำเร็จมาจากเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ด้วยการยืดหนี้ที่ถูกจ่ายเคลมให้ยาวสูงสุด 7 ปี การตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ย 0% โดยปลดหนี้ ลดเงินต้นให้สูงสุด 30% พร้อม “ยกดอกเบี้ย” ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยให้ลูกหนี้สามารถ “อยู่รอด อยู่ได้” และ “ปลดหนี้” ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจ และทำให้ลูกหนี้มีกำลังใจ กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง บสย. ยังมุ่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ในประเทศไทย ผ่าน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” (บสย. F.A. Center) พร้อมให้คำปรึกษาด้านการเงิน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย จัดอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ ตลอดจนให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจ การแก้ปัญหาหนี้ และเตรียมความพร้อมในการขอสินเชื่อ โดยตลอดปีนี้ บสย. ได้เดินหน้ายกระดับสำนักงานเขตทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ (Branch Reformat) ก้าวสู่ “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกัน โดยตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2563 -30 มิถุนายน 2568 บสย. ประสบความสำเร็จในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ SMEs ทะลุ 50,000 ราย สามารถช่วย SMEs ที่เข้ามารับการปรึกษาให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ คิดเป็น 14.66% (Success rate) ร่วมกับการให้บริการผ่าน LINE OA : @tcgfirst เพิ่มความสะดวกให้ SMEs เข้ามาตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษา และลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการต่างๆ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ บสย. สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศได้มากยิ่งขึ้น ++++++++++++++++++++++++++++++++ This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it
|
![]() | Today | 807 |
![]() | All days | 807 |
Comments