สวัสดิการ สังคมที่คนไทยต้องการ BY TDRI
|
|
|
|
Tuesday, 22 June 2010 13:05 |
สวัสดิการ สังคมที่คนไทยต้องการ โดย ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย
การมีระบบสวัสดิการสังคมเป็นหนทาง หนึ่งที่ช่วยคนไทยให้มีความมั่นคงในชีวิต เมื่อยังเด็กก็ได้รับการศึกษาสะสมความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาพยาบาล เมื่อตกงานก็ได้รับการช่วยให้หางานง่ายขึ้นและเร็วขึ้น หรือเมื่อประสบภัยพิบัติรัฐก็ช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีกลไกสวัสดิการสังคมหลากหลายเพื่อรองรับคนกลุ่ม ต่างๆ แต่ทำไมเรายังต้องมีวาระสังคมสวัสดิการถ้วนหน้าปี 2563 หรือต้องมีเรื่องสวัสดิการสังคมในแผนปรองดองแห่งชาติ
ถ้าเราเปรียบสวัสดิการสังคมเป็นตาข่าย รองรับไม่ให้เราตกสู่พื้นเมื่อเราพลัดตกจากหุบเหวของการดำเนินชีวิตประจำวัน ตาข่ายจะช่วยพยุงให้เรากลับลุกขึ้นและตั้งตัวได้กลับเข้าสู่ชีวิตปกติ ถ้าคนไทยมีตาข่ายแข็งแรงก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่คนไทยในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่นานาชนิดและดูเหมือนจะเสี่ยงมากยิ่งขึ้นทุกวัน ถ้าเราหลุดจากตาข่ายลงไปก็เท่ากับตก อยู่ในภาวะยากลำบากต้องการได้รับการดึงกลับขึ้นมาเป็นรายๆ ไป
ตาข่ายหรือสวัสดิการสังคมที่ประเทศไทย มีอยู่นั้นพึ่งพาได้ไม่เต็มที่นัก บางคนโชคดีมีตาข่ายที่แข็งแรง แน่นหนา บางคนโชคร้ายมีตาข่ายที่ทำด้วยเส้นด้ายเล็กๆ บางคนโชคร้ายยิ่งกว่านั้นคือมีตาข่ายที่เป็นรูรองรับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่ว่าไปพลัดตกอยู่แถวไหน ความไม่คงเส้นคงวาของตาข่ายที่เรามีอยู่นี่เองที่สะสมความเสี่ยงในการดำเนิน ชีวิตของคนไทย เสริมสร้างความไม่เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น
สวัสดิการสังคมเป็นสิ่งที่คนไทยต้อง การ การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนเมษายน 2553 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศมีอะไรน่าสนใจหลายประการ การสำรวจนี้ได้มีการเตรียมการตั้งแต่ปี 2552
การสำรวจพบว่าคนไทยต้องการสวัสดิการ แบบถ้วนหน้า นั่นคือ ต้องการมีสวัสดิการสังคมที่เหมือนกันและครอบคลุมคนไทยทุกคน โดยสวัสดิการที่คนไทยเห็นพ้องต้องกันว่าควรทำมากที่สุด คือ 1. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติต่างๆ 2. การช่วยเหลือผู้พิการทุกคน 3. การฝึกอาชีพฟรีทุกหลักสูตร ช่วยจัดหางานให้นักศึกษาจบใหม่ คนตกงาน และคนที่ต้องการเปลี่ยนงาน และ 4. รักษาพยาบาลฟรีด้วยสวัสดิการที่มีเกียรติเหมือนข้าราชการ
การเพิ่มสวัสดิการย่อมต้องใช้เงินมาก ขึ้น คนไทยประมาณร้อยละ 47 ไม่ต่อต้านและเต็มใจที่จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้รัฐนำไปจัดสวัสดิการสังคม อีกร้อยละ 23 ไม่ต่อต้านแต่ไม่เต็มใจจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 30 จะต่อต้านการที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น คนที่ต่อต้านกระจายตัวในแต่ละภาคพอๆ กัน แต่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี ถ้ารัฐมีรายได้และมีงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐควรใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมใด การสำรวจพบว่า คนไทยทั้งประเทศต้องการให้เพิ่มงบเพื่อการรักษาพยาบาลเป็นอันดับแรก ยกเว้นแต่ภาคอีสานต้องการให้เพิ่มการช่วยเหลือคนแก่ยากจน คนพิการที่ยากจน แก้ปัญหาหนี้สินคนจน แสดงให้เห็นว่าคนอีสานจำนวนมากนั้นได้ตกทะลุตาข่ายลงมากองอยู่ข้างล่างเรียบ ร้อยแล้ว
จำเป็นหรือไม่ว่าเราจะต้องให้รัฐ จัดการสวัสดิการสังคมไปทุกเรื่อง คนไทยต้องการให้รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือชุมชน ทำอะไรบ้าง
การสำรวจพบว่าคนไทยต้องการให้คนใน ชุมชนรวมตัวกันจัดการทำสวัสดิการสังคมเรื่อง การดูแลผู้สูงอายุ เด็กพิการ เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า การให้เงินช่วยเหลือคนพิการ และการจัดการบำเหน็จบำนาญแก่ผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ยกเว้นแต่คนกรุงเทพและปริมณฑลที่ต้องการให้รัฐบาลเป็นทั้งผู้ดำเนินการและ สนับสนุนงบประมาณ
แต่ถ้าเป็นสวัสดิการประเภทการศึกษา ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย ทุกภาคเห็นพ้องกันว่าต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ มีแต่ภาคใต้ที่สัดส่วนความต้องการให้ อปท. ดำเนินการจะค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่นๆ ส่วนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้นร้อยละ 84 ของคนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเหมือนเดิม
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัย หนึ่งที่ทำให้เราเตรียมการเรื่องการออมสำหรับการใช้จ่ายเมื่อยามชราภาพทำงาน ไม่ไหว ด้วยภาวะสังคมไทยที่เคยอยู่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่เคยดูแลกันจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ความคาดหวังที่จะได้รับการดูแลจากลูกหลานยังคงมีอยู่สูงมาก ประมาณร้อยละ 90 ของคนไทยเห็นว่าถ้ามีลูกก็อยากให้ลูกช่วยดูแลทั้งด้านเงินทอง การกินอยู่ และการไปหาหมอ ซึ่งปรากฏว่าคนในกรุงเทพและปริมณฑลมีความคาดหวังจากลูกหลานต่ำกว่าภาคอื่นๆ
ถ้ารัฐส่งเสริมให้ทุกคนออมเดือนละ 100 บาทโดยรัฐช่วยออมเพิ่มอีก 50 บาทต่อเดือน คนไทยจะไหวไหม
ครึ่งหนึ่งของประเทศบอกว่า ไหว โดยเฉพาะคนกรุงเทพและปริมณฑล อีกร้อยละ 36 ต้องการออมแต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทุกเดือน หรือบ้างก็ไม่แน่ใจว่าเงินจะเหลือพอออมหรือไม่
การสำรวจนี้พอจะบอกได้ว่าการเข้าสู่ สังคมสวัสดิการไม่ใช่ของง่ายนัก แต่ก็ไม่ได้ยากจนกระทั่งทำไม่ได้ คนไทยมีความหลากหลายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และสังคม แต่ไม่ได้หลากหลายแบบสุดขั้ว การจะเริ่มเข้าสู่สังคมสวัสดิการถ้วนหน้าจึงควรมองหาจุดสนใจร่วมก่อนแล้ว ค่อยๆ ขยายฐานออกไปสู่สวัสดิการที่หลากหลายขึ้น เรามีตาข่ายอยู่แล้วแต่มันรั่วและบอบบาง ควรพยายามทำตาข่ายที่มีอยู่ให้แข็งแรงและค่อยแผ่ขยายตาข่ายออกไป ทำให้ตาข่ายถี่ขึ้น น่าจะเป็นวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุด ตาข่ายที่ควรทำให้แข็งแรงอย่างเร่งด่วนคือเรื่อง การศึกษาการฝึกอาชีพ และการรักษาพยาบาล ทุกภาคค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันว่าสำคัญมาก
|
Comments