Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Hot News ทำไมหุ้นจึงปรับลดลงทั่วโลก ?
ทำไมหุ้นจึงปรับลดลงทั่วโลก ? PDF Print E-mail
Monday, 31 May 2010 11:07

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ แสดงมุมมองต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ไว้ในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์จานร้อน” ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันจันทร์ที่ 31 .. 2553 ไว้ได้อย่างน่าสนใจ และนักลงทุนควรที่จะเรียนรู้และวิเคราะห์ตามเพื่อนำมาปรับใช้ในการลงทุนของตัวเอง

โดยกล่าวว่า...

สัปดาห์ที่แล้ว ผมสัญญาว่าจะกล่าวถึงวิธีประเมินสถานะทางการคลังของรัฐบาล ว่า จะต้องพิจารณาปัจจัยหรือตัวแปรใดบ้าง

แต่ขอเอาเรื่องนี้ไปเขียนลงในสัปดาห์หน้าแทน เพราะสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือ ทำไมราคาหุ้นทั่วโลกจึงปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนนั้น น่าจะมีสาเหตุหลักมาจากการมองภาพรวมของการลงทุนไม่สดใส มิใช่ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองของไทยแต่อย่างเดียว (แม้ว่าในความเห็นของผมนั้นปัญหาการเมืองของไทยก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ ที่อาจทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกได้ในอนาคต)
 

การปรับลงของราคาหุ้นทั่วโลกนั้นเห็นได้จากดัชนีราคาหุ้นทั่วโลกของมอร์แกนสแตนลีย์ หรือ MSCI World ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วโดยสูงสุดที่ 1241.7 จุดเมื่อวันที่ 15 เมษายนและจากนั้นก็ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1050 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ลดลง 15% ในช่วงเวลา 40 วัน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากการขยายตัวของจีดีพีของทุกประเทศในไตรมาส 1 และดัชนีเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ในกรณีของไทยนั้นไตรมาส 4 จีดีพีขยายตัว 5.9% ตามด้วยไตรมาส 1 ซึ่งขยายตัวสูงถึง 12%
 

ตลาดหุ้นนั้นพยายามมองไปในอนาคตเสมอ เพราะการซื้อหุ้นคือการซื้อกำไรในอนาคตของบริษัท หมายความว่าหากกำไรในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นราคาหุ้นก็จะต้องปรับตัวขึ้นตามกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อนักลงทุนทุกคนพยายามคาดการณ์อนาคตแล้วพยายามซื้อหุ้นก่อนที่ราคาหุ้นจะขึ้น ผลที่ตามมา จึงกลับกลายเป็นตรงกันข้ามคือราคาหุ้นจะปรับขึ้นไปรอผลประกอบการที่จะดีขึ้นในอนาคตหรือในทางตรงกันข้าม ราคาหุ้นจะปรับลดลงก่อนหากเกรงว่าจะต้องเผชิญกับข่าวร้ายในอนาคต
 

เวลาที่ราคาหุ้นปรับลดลงมากกว่า 10% นั้น ถือได้ว่าเป็นการปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ มิใช่การปรับตัวลง เพราะผลมาจากความผันผวนระยะสั้น หรือปัจจัยทางเทคนิค เช่น เรื่องของการผ่านหรือไม่ผ่านแนวรับหรือแนวต้าน (ซึ่งผมเองก็ไม่ได้มีความรู้ด้านเทคนิคที่ว่านี้) ดังนั้น คำถามคืออะไรทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
 

ผมได้เขียนถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงเกินกว่าความสามารถที่รัฐบาลบางรัฐบาลจะบริหารจัดการได้ไปมากแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ก็ได้มีการกล่าวอ้างกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง แต่บางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าหากเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ ก็กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง (ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.2% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายตัวสู่ระดับปกติ) และบางประเทศเช่นจีนก็น่าจะขยายตัวสูงถึง 9-10% ทำไมปัญหาความตกต่ำของประเทศกรีซ ซึ่งจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% ของจีดีพีของโลกจะต้องส่งผลกระทบไปทั่วโลก แม้ว่าจะรวมจีดีพีของประเทศข้างเคียง ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน เช่น โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ แล้วก็จะมีสัดส่วนประมาณ 3.5% ของจีดีพีโลก และหากเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวจะหดตัวลงไปบ้าง (กล่าวคือ แทนที่จะมีผลผลิตคิดเป็น 3.5% ของจีดีพีโลกมีผลผลิตเพียง 3% ของจีดีพี) ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปถึง 15% หากเปรียบเทียบว่ามูลค่าหุ้นทั่วโลก ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์ ลดลงไป 15% คือ 8.25 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีของโลกประมาณ 57 ล้านล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวประมาณ 4% หรือ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้
 

คำตอบคือสิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วงนั้น น่าจะต้องมากกว่าความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาของประเทศกรีซ และประเทศข้างเคียงอย่างแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่าในขณะนี้ ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ยังแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ นักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองว่าปัญหาต่างๆ นั้นรัฐบาลยุโรปและรัฐบาลอื่นๆ จะสามารถบริหารจัดการได้ ดังนั้น จึงสรุปว่านักลงทุนตื่นตระหนกจนเกินไป และแนะนำให้เข้าไปซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวได้ ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อิสระและนักลงทุนรายใหญ่บางรายแสดงความเป็นห่วงว่าปัญหากรีซกำลังลุกลามออกไปและไม่มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาที่กำลังลามออกไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปได้ประกาศกองทุนมูลค่า 750,000 ล้านยูโร เพื่อปล่อยกู้ให้กับประเทศยุโรป ที่มีปัญหาทางการคลังนอกเหนือไปจากประเทศกรีซ ซึ่งได้รับเงินกู้ช่วยเหลือไปแล้วถึง 110,000 ล้านยูโร กล่าวคือ รวมกันแล้วเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะมีมูลค่าสูงถึง 860,000 ล้านยูโร ซึ่งเป็นการให้สภาพคล่องกับรัฐบาลที่อาจมีปัญหาในการยืดหนี้หรือเพิ่มหนี้เพียงพอไปอีก 3 ปี จึงน่าจะมองได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ
 

แต่การปรับลงของหุ้นดูเสมือนจะสะท้อนความไม่มั่นใจ ว่า เม็ดเงินมหาศาลดังกล่าวจะจัดการกับปัญหาได้ โดยประเด็นที่ถูกนำยกขึ้นมาเป็นประเด็นโต้แย้ง คือ
 

1. ในกรณีของกรีซนั้นแม้จะสามารถกู้เงินได้จากรัฐบาลอียูอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาสภาพคล่อง (liquidity) แต่เป็นการยอมให้รัฐบาลกรีกสร้างหนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใน 3 ปีข้างหน้าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปถึง 150% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับหนี้ที่เศรษฐกิจไม่สามารถรองรับได้ (solvency) กล่าวคือ ทางออกไม่ใช่การยืดเวลาให้สร้างหนี้เพิ่มขึ้น แต่จะต้องลดสัดส่วนหนี้ให้เศรษฐกิจสามารถรองรับได้ ซึ่งอาจต้องหมายถึง การลดมูลหนี้หรือการเร่งให้จีดีพีขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแผนการลดการขาดดุลงบประมาณ (รัดเข็มขัด) อย่างรุนแรง จนกระทั่งเกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศของกรีซนั้นล้วนแล้วแต่จะทำให้จีดีพีหดตัว จึงจะทำให้ศักยภาพในการแบกหนี้ต้องลดลงตามไปด้วย กล่าวโดยสรุป คือ นโยบายที่ประกาศออกมาเป็นการแก้ปัญหาสภาพคล่อง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่เป็นแก่นสาร คือ ความสามารถในการแบกรับหนี้ (solvency)
 

2. สาเหตุหลักที่รัฐบาลสหภาพยุโรป จะต้องรีบเร่งเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศกรีซ และประเทศข้างเคียงนั้นมิใช่การเข้ามาปกป้องค่าเงินยูโรเพียงอย่างเดียว โดยผมเชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลสหภาพยุโรปกังวลมากที่สุด คือ พันธบัตร (หนี้) รัฐบาลของกรีก และประเทศข้างเคียงนั้น ส่วนใหญ่ถือโดยธนาคารของประเทศหลักในสหภาพยุโรป ได้แก่ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ดังนั้น หากประเทศดังกล่าวมีปัญหาต้องพักชำระหนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินหลักของยุโรป ประเด็นหลังนี้ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนกำลังกังวลมากที่สุด กล่าวคือ ความกังวลว่าระบบการเงินการธนาคารกำลังจะเผชิญกับปัญหาเห็นได้จากดอกเบี้ยที่ธนาคารอ้างอิง เพื่อปล่อยกู้ให้ธนาคารด้วยกันเอง คือ ดอกเบี้ยไลบอร์ (libor) 3 เดือน ซึ่งเคยอยู่ที่ 0.25% มาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนกระทั่งกลางเดือนมีนาคมปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเป็น 0.30% ในเดือนเมษายนและแม้ว่าสหภาพยุโรปจะประกาศตั้งกองทุน 750,000 ล้านยูโร แต่ดอกเบี้ยไลบอร์กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น 0.53% ในปัจจุบันการปรับขึ้นของไลบอร์เป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารเริ่มไว้ใจธนาคารด้วยกันน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งสัญญาณว่าจะเกิดความฝืดเคืองทางการเงินและการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ใน 3-6 เดือนข้างหน้า หากไม่สามารถแก้ปัญหาทำให้ดอกเบี้ยไลบอร์ปรับลดลงได้

Written by :
รอยตะวัน
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday722
mod_vvisit_counterAll days722

We have: 721 guests online
Your IP: 18.116.51.102
Mozilla 5.0, 
Today: Nov 15, 2024

8223336